...ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมเวปด้วยความยินดียิ่งครับผม ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี...

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555


ยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่งอย่างสูงสุดครับ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นบิดาของพระกรรมฐาน

ภาพที่ 1-2 ทั้งสองภาพนี้น่าจะถ่ายในสถานที่เดียวกัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งจากการศึกษาของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (2553) ว่าทั้งสองภาพ น่าจะเป็นภาพถ่ายที่บ้านฝั่งแดง นครพนม ในปี พ.ศ. 2486 (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ,2553:151) พระเดชพระคุณหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงการถ่ายภาพในครั้งนั้นไว้ใน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 "ฤทธิ์คำสัตย์คำจริง"

"... ไปถ่ายรูปที่บ้านฝั่งแดงนั้นแห่งหนึ่งที่มีต้นค้อ ท่านยืนพาดสังฆาฏิ ท่านสงเคราะห์ลูกศิษย์ท่าน ชื่อโยมทองอยู่ นครพนม เขาอยู่พระธาตุพนม เขามาจังหันที่นั่นกับลูกๆ เขา เพราะเขาเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ ท่านมาพักที่บ้านฝั่งแดงกับเรา เราไปรอรับท่าน แล้วไปนิมนต์ท่านมาจากวัดเกาะแก้วนั่น..."

"... ทีนี้พวกโยมทองอยู่เขาเป็นลูกศิษย์เก่าของท่าน เขาก็มาจังหันตอนเช้า พอเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ขอถ่ายรูปท่าน ท่านอนุโลมลูกศิษย์เก่าของท่านนะ ที่ไม้ค้อ ท่านยืนถ่ายพาดผ้าสังฆาฏิอะไรนี้ เราอยู่ที่นั่น นั่นละท่านถ่ายนั้นหนหนึ่ง ท่านอนุโลมให้ลูกศิษย์เก่าท่าน ให้ท่าขัดสมาธิหรือท่ายืนพาดสังฆา ท่านทำให้ทั้งนั้นนะ จากนั้นไม่ค่อยได้มีใครมาถ่ายท่านง่ายๆ นะ เราจำได้เท่านั้น..."

ภาพที่ 3 ถ่ายจากภาพถ่ายต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้โดย ดร.นระ คมนามูล บุตรชายของ คุณวัน คมนามูล ซึ่งจากการค้นคว้าโดย ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร (2549) พบว่าภาพถ่ายนี้ถ่ายในวันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ณ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

ภาพที่ 4 กล่าวกันว่าเป็นภาพถ่ายที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
จากการศึกษาโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (2553) ได้กล่าวถึงภาพนี้ว่า ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เขียนไว้ใน ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตะเถระ ไว้ว่า ปลายปี พ.ศ. 2484 คณะศรัทธาชาวสกลนครอาราธนาหลวงปู่มั่น จากวัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ไปพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร มีผู้มาขอถ่ายภาพท่านไว้กราบไหว้บูชา ท่านได้อนุญาตให้ถ่ายภาพ(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, 2553: 150)

พระเถรานุเถระ ตลอดบรรดาศิษยานุศิษย์ ในงานถวายเพลิงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต
 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓
 (องค์ที่ไม่ปรากฏหมายเลขคือองค์ที่ไม่ทราบนาม)
                               >>คลิ๊กที่รูปภาพเพื่อดูภาพใหญ่ครับ<<
 
                                       รับชมวีดีโอ 28พระอรหันต์แห่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์
                 
                                              เพลงประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต        
            
       ตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากสถานที่จริงเป็นVDOที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัญ 


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เจ้าพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก
คำที่เป็นคติ ที่ท่านอาจารย์มั่น กล่าวอยู่บ่อยๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำ
๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
๓. หาคนดีมีศีลธรรม หายากยิ่งกว่าเพรชนิลจินดา
ยินดีต้อนรับญาติธรรรมทุกท่านเข้ากลุ่มพระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น สนทนาธรรม
คลิ๊กตามlinkนี้ครับhttps://www.facebook.com/groups/226951157350091

เฟสบุ๊ค เพจ : พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น




กองทัพธรรม พระกรรมฐาน จะมีครูอาจารย์เล่าถึงหลวงปู่มั่นเรื่องต่างๆๆหาดูหาฟังยากมากๆๆผมพึ่่่่่่่่่่่่่่่่ง เคยฟังครั้งแรก
เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี


www.facebook.com/groups/226951157350091

ยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง แบ่งปันพูดคุยซึ่งกันและกันนะครับผม
ขอบคุณครับ(ฅนไทอีสาน สว่างแดนดิน)เฟสบุคผมครับhttp://www.facebook.com/naynopphonดูประวัติย่อ พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ VDO ได้จากทางขวามือครับ

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต


เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี


www.facebook.com/groups/226951157350091
http://luangpumun.blogspot.com/

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น นามเดิมของท่านชื่อ ผาง ครองยุติ เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล ณ บ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

โยมบิดาชื่อ นายทัน ครองยุติ โยมมารดาชื่อ นางบัพพา ครองยุติ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ นางบาง ครองยุติ ได้บวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต คนที่สองเป็นชายชื่อ นายเสน ครองยุติ ส่วนตัวหลวงปู่เป็นคนสุดท้อง โยมบิดาและมารดามีอาชีพทำนาเป็นหลัก ส่วนการศึกษาทางโลกนั้น หลวงปู่มีความรู้สามัญชั้นประถมปีที่ ๔ ท่านมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ถือความสัตย์ พูดจริงทำจริง รักธรรมชาติ ชอบความสงบ เมตตาสัตว์ มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทยและทดแทนพระคุณบิดามารดา ที่วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูดวน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้พอสมควร เมื่อบวชได้ ๑ พรรษาจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศมาประกอบสัมมาอาชีพ

หลังจากได้ลาสิกขาแล้ว ครั้นอายุได้ ๒๓ ปีก็ได้สมรสตามประเพณีกับนางสาวจันดี สายเสมา คนบ้านแดงหม้อ ตำบลแดงหม้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ครองเรือนมาด้วยกันอย่างราบรื่นเป็นเวลานานร่วม ๒๑ ปี โดยไม่มีบุตรสืบสกุล จึงได้ขอบุตรของญาติพี่น้องมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ นางบุญปราง ครองยุติ

เมื่อครั้งยังอยู่ในเพศฆราวาส หลวงปู่เป็นคนขยัน เอาจริงเอาจังกับการงานได้ประกอบสัมมาอาชีพโดยช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำหลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว

หลวงปู่ผางได้ใช้ชีวิตในเพศฆราวาสเป็นเวลานาน สามารถรอบรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมาพิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและหมูสัตว์ทั้งหลายบรรดามีในโลก เมื่อเกิดมาแล้วต่างก็สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเป็นที่เดือดร้อยไม่สุดสิ้น หลวงปู่คงจะได้สั่ง สมบุญบารมีมามากทำให้ท่านมองเห็นความไม่แน่นอนและความไม่มีแก่นสารในชีวิต ทำให้จิตใจของท่านโน้มเอียงไปในทางแห่งความสงบ ท่านได้ทำทานเป็นการใหญ่ โดยได้ให้เกวียน วัว บ้าน ไร่ นา แก่ผู้อื่น สละทุกสิ่งทุกอยางจนหมดสิ้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

หลังจากที่หลวงปู่ในเพศฆราวาสได้บริจาคทาน วัว ควาย ไร่ นา และบ้านเรือน ให้แก่ผู้อื่นจนหมดทั้งสิ้นแล้ว ท่านก็หมดห่วงและได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ดังนั้น เมื่ออายุได้ราว ๔๓ ปี ท่านจึงได้ชวนกันกับภรรยาออกบวช ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี ส่วนหลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูศรี (วัดคูขาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “จิตฺตคุตฺโต”

ภายหลังอุปสมบทแล้ว หลวงปู่ผางได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (ท่านเจ้าคุณพระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ครั้นต่อมาหลวงปู่จึงได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยมี พระมหาอ่อน เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อหลวงปู่ผางได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ท่านก็ยังเข้ารับการอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ต่อไปอีกเป็นเวลาอันสมควร แล้วจึงได้ออกปฏิบัติพระธุดงค์กรรมฐานไปปลีกวิเวกโดยลำพัง ต่อมาจึงได้พบกับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้กราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และได้เข้าอบรมอยู่กับพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อยู่เป็นเวลาอันสมควร

คืนหนึ่งหลวงปู่ได้นิมิตไปว่า ได้ขี่ม้าขาวไปทางจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นสถานที่ต่างๆ เลยไปจนถึงอำเภอมัญจาคีรีแล้วม้าขาวก็หยุดให้ท่านลง รุ่งเช้าขึ้นหลวงปู่ท่านจึงได้กราบลา ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ออกธุดงค์ไปตามนิมิตนั้นทันที หลวงปู่ผางได้ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี

ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบรรลังค์ศิลาทิพย์ ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลาหลายปี จากนั้นหลวงปู่ได้ธุดงค์ต่อไปยังภูเขาผาแดง อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ได้พักแรมที่บ้านแจ้งทัพม้าและบ้านโสกน้ำขุ่น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ “วัดดูน” ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีบ่อน้ำซึมที่ไหลออกมาตลอดปีมิได้ขาด วัดดูนแห่งนี้เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ชาวบ้านแถบนั้นถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมี พระมหาสีทน กาญฺจโน ซึ่งได้ออกธุดงค์มาพบเข้า จึงได้บูรณะขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ต่อมาพระมหาสีทนได้เปลี่ยนชื่อของวัดจาก “วัดดูน” เป็น “วัดอุดมคงคีรีเขต”

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ผางได้ธุดงค์มายังวัดอุดมคงคาคีรีเขต ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่จนตลอดชีวิตของท่าน เมื่อแรกที่หลวงปู่มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ บริเวณนั้นยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าดุร้ายมาก เช่น เสือ ช้าง หมี งู ฯลฯ มีภูตผีปีศาจดุร้าย หลวงปู่ได้แผ่เมตตาจิตต่อสู้กับสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ จนชาวบ้านในละแวกนั้นหายหวาดกลัว และสัตว์ร้ายก็หลบหนีข้ามเขาภูผาแดงไปหมด หลวงปู่ยังนิมิตเห็นโครงกระดูกของท่านแต่ชาติปางก่อนฝังอยู่บริเวณนั้นด้วย

หลวงปู่เล่าไว้ว่า เมื่อแรกที่ท่านธุดงค์มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตนี้ ก็จำพรรษาอยู่กับพระมหาสีทนเพียงสององค์ ได้นำพาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้นสองหลัง ศาลาพักฉันข้าวหนึ่งหลัง ทายกทายิกาประจำวัดที่ช่วยกันสร้างในตอนนั้น ได้แก่ นายผง บ้านโสกน้ำขุ่น นายหอม บ้านดอนแก่นเฒ่า และนายสม บ้านโสกใหญ่หลังจากนั้นต่อมาอีกสี่ห้าปี พระมหาสีทนก็ขอลาออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือไม่กลับมาอีกเลย

หลวงปู่ผางเป็นผู้มีความสามารถในการพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจหลังจากที่หลวงปู่มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตได้ไม่นานนัก ก็ได้สร้างฝายกั้นน้ำสองสามแห่ง สร้างกุฏีทั้งสิ้น ๕๒ หลัง สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์กู่แก้ว เจดีย์ถ้ำกงเกวียน และเจดีย์ใหญ่ สร้างศาลาใหญ่ สร้างสะพานคอนกรีตสามแห่งภายในวัด สร้างกำแพงรอบวัด จัดทำฌาปนสถาน จัดระบบสุขาภิบาล โดยสร้างถังประปาวางท่อน้ำ และจัดทำส้วมให้เพียงพอสร้างโรงอาหาร ศาลาฉัน โรงซักผ้าย้อมผ้า โรงไฟฟ้า เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้นำชาวบ้านโดยร่วมมือกับหน่วย กรป. กลางสร้างและพัฒนาเส้นทางแยกจากทางหลวงสายอำเภอมัญจาคีรี-แก้งคร้อ ไปยังวัดอุดมคงคาคีรีเขตเป็นถนนลงหินลูกรัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ทางด้านการศึกษาหลวงปู่ได้นำราษฎรสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนอุดมคงคาคีรีเขต มีสาธารณะประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่หลวงปู่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูล และแม้แต่วัดของท่านก็ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เริ่มต้นมาดีก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดีในบั้นปลาย

ในสมัยก่อนชาวบ้านแถวมัญจาคีรีนับถือภูตผีมาก แต่ละหมู่บ้านก็มีตูบตาปู่ (ศาลเจ้า) ไว้ประจำหมู่บ้านเพื่อกราบไหว้ เช่นสรวงบนบานบอกกล่าวขอความคุ้มครอง หลวงปู่ผางสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีหันมานับถือพระรัตนตรัย แต่ชาวบ้านเกรงกลัวผีจะมาทำร้ายทำให้เกิดความลำบากไม่อาจเลิกนับถือผีได้ หลวงปู่มีอุบายอันชาญฉลาดเพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้เห็นว่า พระรัตนตรัยย่อมมีอานุภาพมากกว่าผี ท่านจึงให้ชาวบ้านเผาตูบตาปู่ทิ้งเมื่อชาวบ้านำไม่กล้าเผา ท่านก็ให้กำลังใจชาวบ้านและบอกว่า ถ้าเจ้าปู่ เจ้าผี เจ้าของตูบตาปู่มีจริงให้เข้ามาดับไฟเอาเอง ชาวบ้านจึงได้กล้าเผา

บางครั้งเมื่อมีคนถามหลวงปู่ว่า เชื่อว่าผีมีจริงไหม หลวงปู่ก็จะตอบว่า เชื่อมาตั้งนานแล้ว เมื่อถามว่า หลวงปู่เคยเห็นผีไหม หลวงปู่ตอบว่า เคยเห็นอยู่บ่อยๆ และเมื่อถามว่า หลวงปู่คิดกลัวผีบ้านไหม หลวงปู่ตอบว่า กลัวอยู่เหมือนกัน เพราะผีพวกนี้มันพูดยากสอนยาก แล้วก็ถามว่า ผีมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร ผีพูดเป็นด้วยหรือ หลวงปู่ก็ตอบว่า ก็ที่กำลังนั่ง กำลังถามอยู่นี่แหละคือผีทั้งนั้นเลย

หลวงปู่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ อายุได้ ๗๙ ปี ผลตรวจปรากฏว่าสุขภาพทั่วไปดี ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตาเริ่มเป็นต้อกระจกอ่อนๆ ทั้งสองข้าง ผลเอ็กซเรย์ปอด คลื่นหัวใจเป็นปกติ ผลการตรวจเลือดพบว่าหน้าที่ของไต ตับ และระดับไขมันในเลือดปกติ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ หลวงปู่ได้ไปเข้ารับการตรวจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีอาการแน่นท้อง จากการเอ็กซเรย์ระบบทางทางเดินอาหาร พบว่าหลวงปู่เริ่มเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร คณะแพทย์โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาได้ถวายคำแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด แต่หลวงปู่ไม่ยินยอม

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงปู่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอีก ด้วยอาการอ่อนเพลียเนื่องจากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร และแพทย์ยังพบว่ามีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลวงปู่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสลับกับไปพักที่บ้านคุณนายเข็มทอง โอสถาพันธุ์ จนกระทั่งวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ทางคณะศิษย์จึงได้นิมนต์กลับวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลังจากหลวงปู่กลับวัดได้ไม่กี่วัน ก็มีอาการอาเจียน ฉันอาหารและน้ำไม่ได้ ปัสสาวะน้อย และได้ละทิ้งขันธ์ไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี พรรษา ๓๗

ก่อนมรณภาพไม่กี่วัน สังขารร่างกายของหลวงปู่ทรุดโทรมาก บรรดาศิษย์ต่างวิตกไปตามๆ กันและปลงใจว่า หลวงปู่ไม่รอดแน่ ยิ่งได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้าความทุกขเวทนาที่หลวงปู่ได้รับอย่างแสนสาหัส ศิษย์ทุกคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ หลวงปู่ทราบดีในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งปัญหาถามคณะศิษย์ที่คอยเฝ้าดูอาการอาพาธอยู่โดยรอบในขณะนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติว่า “อยากเป็นไหมล่ะ อย่างนี้” ช่วงเป็นคำถามที่ประทับใจเสียจริงๆ

ธรรมโอวาท

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระนักปฏิบัติที่มั่นคงอดทนเป็นเลิศรูปหนึ่ง ชอบทำมากกว่าพูด บทโอวาทเทศนาสั่งสอนต่างๆ จึงไม่ค่อยมี ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า “มีชื่อบ่อยากให้ปรากฏมียศบ่อยากให้ลือชา”

ศีลข้อห้าเป็นข้อที่หลวงปู่ย้ำเน้นตลอดมา หลวงปู่มักจะให้โอวาทให้พรว่า “อย่าสิเอาพระรัตนตรัยไปกินเหล้า เด้อ” , “ให้สำบายๆ เด้อ” , “ให้อยู่ดีมีแฮง เด้อ”

เนื่องจากหลวงปู่ไม่เป็นพระนักพูดนักเทศน์ที่ดี แต่สอนคนอื่นแล้วตนเองไม่ปฏิบัติตามด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจะนำบทเทศนาสั่งสอนมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้เหมือนอย่างที่เห็นโดยทั่วไป แต่ก็พอสรุปโอวาทที่หลวงปู่เคยพร่ำสอนบรรดาสานุศิษย์อยู่โดยมากได้ดังนั้น

- ให้พากันวางความตาย อย่าเสียดายความมี ตู้คัมภีร์ใหม่อยู่ในกายเฮานี่ (ให้พากันวางความตายอย่าเสียดายความมั่งมี ตู้พระไตรปิฎกอยู่ในกายของเรานี้)

- ให้พากันพายเฮือข่วมทะเลหลวงให้ม่นฝั่ง อย่าสิกลับต่าวปิ้นนำ พั่วหมากแบ่งดง (ให้พากันกายเรือข้าวทะเลหลวงให้รอดฝั่ง อย่าได้กลับมาวนเวียนอยู่กับวัฏฏสงสาร)

- ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีกะย่าน บ่กล้ามใกล้ดอก (ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีก็จะกลัว ไม่กล้าเข้ามาใกล้)

- หมอบๆ เข่าหัวเท่าง่ายาง ย่างโย่งๆ หัวแทบขี้ดิน (คนพาลถึงจะทำเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนพาลอยู่นั่นเอง หรือได้แก่คนที่เคารพแต่กายส่วนใจไม่เคารพ ส่วนคนดีมีความเคารพ ถึงแม้จะคุยโวไม่เคารพ แต่ใจนั้นเคารพอยู่)

- มีดพร้าโต้ควงแบกท่วมหู คนมันบางท่อคูคันต้อน ซุยซำซะ ลากขี้ดินจำก้น (คนผู้มีอาวุธคือปัญญาหรือศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะแสดงตนว่าไม่ดีอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนดีอยู่นั่นเอง)

- คนสามบ้านกินน้ำส่างเดียว เที่ยวทางเดียว บ่เหยียบฮอยกัน (คนสามหมู่บ้านดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน เดินบนเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เหยียบรอยเท้ากันหมายถึง คนทุกวันนี้ดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันคือ น้ำประปา และการเดินทางทุกวันนี้ใช้รถยนต์ไม่มีรอยเท้าให้เห็น)

- อย่างได้มัวเมาหม่นนำดวงดอกไข่เน่า เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าได้มัวเพลิดเพลินอยู่กับดอกไม้หอมในป่า หรือลูกไม้ในป่า จะทำให้ชักช้าไปไม่ถึงที่หมาย หมายถึงอย่าได้มัวเพลินอยู่ในกามารมณ์ จะทำให้เราชักช้าไม่พ้นวัฏฏสงสาร)

- ลิงกับลิงชิงขึ้นต้นไม้ บัดสิได้แม่นบักโกกนาโถ (เมื่อลิงทั้งหลายแย่งชิงกันขึ้นต้นไม้ ตัวที่แย่งได้เป็นตัวที่มีความคล่องแคล่วว่องไว กว่าเพื่อน)

- นักปราชญ์ฮู่หลง หงส์ทองถึกบ้วง ควายบักตู้ตื่นไถ (นักปราชญ์ยังมีโอกาสพลาด หงส์ทองยังมีโอกาสติดบ่วง และควายที่คุ้นกับไถก็ยังตื่นไถได้ หมายถึงบุคคลผู้รู้จักบาปบุญแล้วยังหลวงทำความชั่วได้ บุคคลผู้มีสติก็ยังขาดความระมัดระวัง และบุคคลที่เป็นผู้รู้แล้วยังเป็นพาลได้)

- อย่าพากันเที่ยวทางเวิ่งเหิงหลายมันสิค่ำ เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าพากันเถลไถลออกจากทางตรงเดี๋ยวจะมีค่ำก่อน อย่ามัวเพลินกับผลไม้ป่าจะทำให้ชักช้ามือค่ำในระหว่างทางได้)

- พุทโธ พุทโธ หัวใจโตกะรักษาบ่ได้ (รู้จักแต่พุทโธ พุทโธ แต่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเอง)

- ศีลมีมากมายหลายข้อ บ่ต้องรักษาเหมิดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจเจ้าของอย่างเดียวให้ดีท่อนั้น กาย วาจา กะสิดีไปนำกัน (ศีลมีมากมายหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อหรอก รักษาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวให้ดีเท่านั้น กายวาจาก็จะดีไปด้วยกัน)

ปัจฉิมบท

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระสงฆ์ผู้มีจิตใจเมตตาอยู่เสมอ ท่านบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม เมตตาบารมีของท่านนี้เป็นกระแสธรรมที่นุ่มนวลเยือกเย็น ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต มีบึงเป็นที่อาศัยของจระเข้อยู่แห่งหนึ่ง ทราบว่ามีอยู่หลายตัว บางคราวน้ำป่าหลากมามาก ทำให้จระเข้หนีไปอยู่ในถิ่นอื่น หลวงปู่ต้องตามไปบอกให้กลับมาเฝ้าวัดที่บึงแห่งเดิม และจระเข้ก็กลับมาจริงๆ ด้วย

มีเรื่องเล่ากันว่า วันที่หลวงปู่มรณภาพ จระเข้ลอยไปทางด้านเหนือของบึงและร้องเสียงดังอยู่เป็นเวลานาน คล้ายจะบอกให้รู้ว่า หลวงปู่จะจากพวกเราไปแล้ว และเป็นการแสดงถึงความอาลัยอาวรณ์ของสัตว์

คราวหนึ่งได้มีการสร้างกุฏิในบึงดังกล่าว พวกช่างไม้กล้าลงไปปักเสาในน้ำเพราะกลัวจระเข้ หลวงปู่ต้องลงไปยืนแช่ในน้ำ คอยไล่ไม่ให้จระเข้เข้ามารบกวนพวกช่าง เมื่อถูกถามว่าไม่กลัวจระเข้หรือ หลวงปู่ตอบว่า เลี้ยงมันมาแต่เล็กแต่น้อยจะไปกลัวมันทำไม อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังเมตตาบารมีของหลวงปู่คือ หลายครั้งที่เกิดเหตุไฟป่าใกล้กับบริเวณวัด บรรดาสัตว์ป่านานาชนิดกระเสือกระสนหนีไฟเข้าไปอาศัยในเขตวัด ส่วนพวกที่หนีไฟไม่ทันเพราะหมดกำลังและยังอ่อนก็ถูกไฟไหม้ตายเป็นกองอย่างน่าเอน็จอนาถ หลวงปู่ย่อมเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ด้วยพลังแห่งเมตตาธรรมที่มีอยู่ในใจเป็นเหตุให้หลวงปู่ต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวัน เข้านั่งสมาธิเพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้แก่สัตว์ที่ถูกไฟไหม้ตาย

หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมวินัย ท่านเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งแก่กล้ามาก ปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม อีกทั้งวาจาของท่านที่พูดออกมาก็มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงดังคำพูดของท่านเสมอ

มีเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวข้องกับไหวพริบปฏิภาณของหลวงปู่ เช่น มีครั้งหนึ่งมหาน้อยเป็นชาวอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีนิสัยชอบถามปัญหาธรรมกับพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ วันหนึ่งได้ไปกราบนมัสการหลวงปู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต แล้วถามหลวงปู่ว่า “เขาว่าพระกัมมัฏฐานถือธุดงควัตรอย่างหลวงปู่ ไม่รับเงินรับทอง แล้วใช้จ่ายรูปิยะ วัตถุอนามาสด้วยมือตนเองใช่ไหม ?”

หลวงปู่มองดูหน้ามหาน้อยแล้วถามกลับว่า “ถามทำไม ?”

มหาน้อยตอบ “ก็อยากรู้สิหลวงปู่ถึงถาม”

หลวงปู่ตอบ “ก็ใช่น่ะสิ”

มหาน้อยพูดต่อว่า “นั่นก็แสดงว่า หลวงปู่ได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์หมดความอยากแล้วใช้ไหม”

หลวงปู่ตอบว่า “เอ้า จะพูดไปอะไรปานนั้น ต้องเป็นอรหันต์เท่านั้นเหรอจึงจะไม่จับเงิน จับทอง พระคนธรรมดาไม่จับไม่ได้หรือ”

มหาน้อยพล่ามต่อไปอีกว่า “ผมถามหลวงปู่เพื่อต้องการทราบว่า หลวงปู่ไม่รับเงินทองของอนามาสนั่นน่ะ เพราะหมดความอยากแล้วใช้ไหมผมถามอย่างนี้”

หลวงปู่ตอบว่า “ไม่รับเฉยๆ นี่แหละมันจะเพราะอะไร”

หลวงปู่สอนไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อถือฤกษ์ยาม แม้ว่าในปัจจุบันการถือฤกษ์ยามนับเป็นเรื่องสำคัญ จะเดินทางประกอบธุรกิจ ขึ้นบ้านใหม่ และอะไรหลายๆ อย่าง ต้องมีฤกษ์ถ้าถูกวันอุบาทว์ โลกาวินาศ วันลอย วันจม แล้วต้องงด ควรเป็นวันธงชัย วันอธิบดี และวันฟู จึงจะเป็นมงคล

มีครั้งหนึ่งคุณนายท่านหนึ่งมากราบหลวงปู่ ปรารภถึงวันเปิดร้านเพื่อประกอบธุรกิจการค้า คุณนายถามหลวงปู่ถึงวันที่จะเป็นมงคลสำหรับการเปิดร้าน หลวงปู่ก็บอกว่าดีทุกวัน เป็นพรุ่งนี้ได้ยิ่งดี คุณนายแย้งว่า วันพรุ่งนี้เป็นวันโลกาวินาศ หลวงปู่บอกว่าไม่เคยได้ยินวันโลกาวินาศเคย ได้ยินแต่วันอาทิตย์วันจันทร์

คุณนายก็เลยเรียนหลวงปู่ว่า “เขามีมานานแล้วหลวงปู่ วันธงชัย วันอธิบดี วันฟู นี่ถึงเป็นมงคลเจ้าข้า” หลวงปู่ก็เลยถามว่า แล้ววันนี้ล่ะวันอะไร ก็ได้คำตอบจากคุณนายว่าเป็นวันฟูแต่ร้านไม่เรียบร้อยก็เลยเปิดไม่ทัน หลวงปู่จึงบอกให้คุณนายลองโยนก้อนหินลงไปในที่ล้างเท้า

แล้วหลวงปู่ก็ถามว่า แล้วก้อนหินมันฟูไหม ได้คำตอบว่า “จม”

หลวงปู่จึงสั่งสอนว่า “ที่ว่าวันฟู มันทำไมจึงไม่ฟู นี่แหละมันฟูไม่จริง” นี่แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบในการสอนธรรมะของหลวงปู่ สอนให้เห็นของจริง ให้รู้ชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยเหตุและผล หินเป็นวัตถุที่จมน้ำมันก็ย่อมจะจมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นวันลอยวันฟู ท่านชี้ให้เห็นว่าวันเดือนปี ก็เป็นกาลเวลาไม่มีผลต่อความเป็นอยู่ความเจริญรุ่งเรืองของเรา แต่การกระทำของเราต่างหากที่จะมีผลต่อตัวเราเอง

อนุสรณ์สถานที่สำคัญที่สุดของหลวงปู่ผางคือ วัดอุดมคงคาคีรีเขต ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งที่ควรภาคภูมิในและน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ได้ทำการบุกเบิกก่อสร้างวัดแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นป่าดงดิบมีสัตว์ร้ายชุกชุม ภูตผีปีศาจคอยรบกวน และยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย เนื่องจากหลวงปู่มีควาทรหดอดทน ความเป็นผู้มั่นคงในการปฏิบัติยากที่จะหาผู้เทียมได้ และด้วยคุณธรรม บารมีที่ท่านได้บำเพ็ญมา จึงสามารถยกระดับสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้สูงส่งเรื่อยมาโดยลำดับ โดยที่ทางราชการได้เห็นความสำคัญมีศรัทธาเลื่อมใสได้ตกลงกันที่สำนักสงฆ์ออกจากป่าสงวนแห่งชาติอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เนื้อที่ถึง ๕๘๐ ไร่

ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงปู่ผางได้สร้างเจดีย์ถ้ำกงเกวียนขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญสมณกิจ โดยสร้างไว้บนไหล่เขาบริเวณเป็นลานหินขนาดใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงปู่ได้สร้างเจดีย์กู่แก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากศาลาใหญ่ราว ๙๐ เมตรเท่านั้น และหลวงปู่ใช้ที่แห่งนี้บำเพ็ญสมณกิจเพราะอยู่ใกล้ศาลาใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัด สะดวกแก่หลวงปู่ในการขึ้นลงเพราะชราภาพมากแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่ผางได้ก่อสร้าง “พระเจดีย์ชัยมงคล” องค์พระเจดีย์ใหญ่ ฐานวัดโดยรอบ ๑๐๐ เมตร สูง ๒๘ เมตร ส่วนล่างและบนขององค์พระเจดีย์เป็นบัวค่ำบัวหงายประดับลวดลายไทย ลงรักปิดทองและติดกระจก พื้นด้านในองค์พระเจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตสีดำจากประเทศอิตาลี ส่วนที่เป็นยอดขององค์พระเจดีย์นั้น ใช้โมเสดสีทองจากประเทศอิตาลีเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนบนสุดเป็นยอดฉัตรทำด้วยโลหะปิดทอง ชั้นบนสุดขององค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ข้างล่างสร้างเป็น พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ภายในองค์พระเจดีย์ได้ประดิษฐาน ‘พระพุทธชินราช’ เป็นองค์พระประธาน และรูปเหมือนเท่าขนาดองค์จริงของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ผางทั้งสองรูป

หลวงตามหาบัวพูดถึงหลวงปู่ผาง

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙


“.....หลวงพ่อผางที่อำเภอชนบท เก่งทางพวกงู พวกจระเข้ วัดผู้เฒ่าแต่ก่อน โถ งูชุมมากนะ เหมือนกับผู้เฒ่าเลี้ยงไว้ ไม่ได้ผิดกันอะไรเลย งูเห่างูจงอางนะไม่ใช่ธรรมดา มันป้วนเปี้ยนๆ อยู่กับคน คนไปไหนก็อยู่อย่างนี้ๆ คนก็เดินไปข้างๆ เรียกว่าหลีกกันไปเหมือนหลีกหมา ว่างั้นเถอะนะ มันมีอยู่ทั่วไป

หลวงพ่อผางเป็นผู้ปกครองวัดนั้น มันเคารพหลวงพ่อผางมากนะ งูเหล่านี้กลัว เคารพแต่หลวงพ่อผาง จระเข้ตัวหนึ่งอยู่นั้นเลี้ยงไว้ กลัวแต่หลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวนั้น ท่านให้เขาไปปลูกกุฏิกลางสระ มันมางับเขาเรื่อย ต้องหลวงพ่อผางมาละ มันไปไหนไอ้นี่ วิ่งหนีเลย มันอยู่ใต้น้ำ อย่างนี้ละมันกลัว กลัวหลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวเดียว งับเขามันไม่กินแหละ งับเขาให้เจ็บ เพราะคนทำกุฏิอยู่กลางสระน้ำ คนก็ลงน้ำละซิ มันเลยมางับเอาตรงนั้น ต้องเรียกหาหลวงพ่อผางเรื่อย ครั้นหลวงพ่อผางอยู่นั้นทั้งวันไม่มา มันกลัว ถ้าเรียกหลวงพ่อผางเมื่อไรมันมางับเขาละ ร้องโก้กทีเดียว แข้กัด จระเข้เรียก แข้ แข้กัด.....”

หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ


เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี


www.facebook.com/groups/226951157350091
http://luangpumun.blogspot.com/

หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ
วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

“พระอริยเจ้าผู้ปรารภความเพียร”


พระเดชพระคุณหลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ พระอริยเจ้าผู้ปรารภความพากเพียรสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา เป็นศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่อัฐิได้กลายเป็นพระธาตุแล้ว แสดงให้เห็นว่า “ท่านเป็นพระอรหันต์”รูปหนึ่งในวงศ์พระพุทธศาสนาที่เจริญรอยตามเสด็จองค์พระบรมศาสดา

ท่านท่องเที่ยวธุดงค์ไปทั่วประเทศไทยเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนเข้าหาสำนักครูบาอาจารย์เสมอ เป็นผู้มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายแต่ทุกท่วงท่ากริยาแฝงไปด้วยความหมายแห่งธรรม


ท่านเป็นศิษย์ต้นและเป็นทายาทธรรมของ “หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ พระอริยเจ้าแห่งวัดป่าประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น” โดยแท้

การปฏิบัติธรรมออกกรรมฐานของท่านล้วนได้ติดตามพระอรหันต์องค์สำคัญๆ ทั้งนั้น เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปุ่พรหม จิรปุญฺโญ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี เป็นต้น

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล ที่บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

ท่านเป็นบุตรของนายสอน และนางเหม็น แมดสถาน มีอาชีพทำนา มีพี่น้อง ๘ คน

หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่วัดชัยมงคล ตำบลโพนสูง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระมหาเถื่อน อุชุกโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพร สุมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการพุธ ยโส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ”ปริปุณฺโณ”

พุทธศักราช ๒๔๙๐ ท่านได้จำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม กับหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ พอออกพรรษาแล้ว ได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ ในพรรษานี้ ท่านติดใจในรสชาติแห่งธรรมที่ท่านพระอาจารย์แสดงจึงมีความตั้งใจจะไปพักจำพรรษากับท่
านพระอาจารย์มั่นอีก เมื่อท่านเดินทางไปถึงก็พบว่ามีพระอยู่จำพรรษากับองค์ท่านจำนวนมาก กุฎิไม่เพียงพอ

ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเมตตาให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ไปกราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์มั่นกลับมาพักอยู่กับหลวงปู่พรหม ที่วัดประสิทธิธรรม

จากนั้นก็ได้กราบลาหลวงปู่พรหม ออกธุดงค์วิเวกไปยังอำเภอบ้านผือ พระพุทธบาทบัวบก อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ท่านจำพรรษาที่ภูเก้า อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี หลังจากออกพรรษาแล้วได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้พักศึกษาข้ออรรถข้อธรรมจากหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ท่านได้ติดตามหลวงปู่พรหมไปจำพรรษาที่ วัดบ้านถ่อน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลังออกพรรษาแล้ว หลวงปู่พรหมได้เดินทางไปวัดหนองผือ ตำบลนาใน เพื่อประชุมคณะสงฆ์ เตรียมงานประชุมเพลิงองค์หลวงปู่มั่น และโอกาสนี้หลวงปู่ผางได้กราบนมัสการ หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล

ท่านได้ติดตามหลวงปู่ขาวไปธุดงค์ตามเทือกเขาภูพาน จนถึงวัดถ้ำกลองเพล และได้พักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาวระยะหนึ่ง จังได้กราบลาหลวงปู่เพื่อปลีกวิเวกไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย และติดตามหลวงปู่คำดีไปยังภูเขาควาย ประเทศลาว

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านนาเชือก จังหวัดเลย

หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ธุดงค์กลับวัดป่าประสิทธิธรรม บ้านดงเย็นเพื่ออุปัฏฐากหลวงปู่พรหม หลังจากพักอยู่นานพอสมควรแล้ว ได้ออกวิเวกไปหนองกุงทับม้า อำเภอวังสามหมอ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ต่อไปยังนิคมน้ำอูน บ้านกุดบาก กุดแฮด กุดไห ค้อน้อย ซึ่งเป็นบริเวณเทือกเขาภูพาน หนทางทุรกันดารลำบากมาก และได้ข้ามฟากไปยังอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ไปที่บ้านสามผง โดยมีความตั้งใจว่าจะไปกราบนมัสการ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม แต่ไม่ได้พบท่าน ได้พบกับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงปู่บัวคำ อาจารย์บัว และสามเณรรูปหนึ่ง รวมทั้งหมด ๕ รูป และได้อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน อยู่ที่บ้านสามผง

พุทธศักราช ๒๔๙๖ ท่านพักจำพรรษาที่อำเภอวังสะพุง และได้จำพรรษาร่วมกับ พระอาจารย์ทองสุก และพระอาจารย์เมฆ รวมทั้งหมด ๓ รูป

หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ออกวิเวกไปทางถ้ำผาบิ้ง เพื่อศึกษาธรรมกับหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบได้พาเที่ยววิเวกขึ้นไปทางเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้พาไปวิเวกยังสถานที่สงบสงัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ท่านจำพรรษาที่ป่าบ้านเฮียด อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่แห่งนั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มี ๑๐ กว่าหลังคาเรือน มีพระจำพรรษาด้วยกันทั้งหมด ๓ รูปหลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดป่าบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นหลวงปู่ชอบได้พาท่านธุดงค์ไปยังวัดผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ท่านพักจำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม หลังออกพรรษาแล้ว ได้วิเวกไปทางดงหม้อทอง พักอยู่ระยะหนึ่งได้ออกวิเวกต่อไปทางภูวัว ภูทอก ไปพักกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ระยะหนึ่ง แล้วออกวิเวกต่อไปยังภูลังกา

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ท่านได้พักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มีพระร่วมจำพรรษาทั้งหมด ๑๗ รูป อยู่จนสิ้นกรานกฐิน ก็ได้กราบลาหลวงตามหาบัว ออกวิเวกไปทางจังหวัดหนองคาย ทางบ้านนามั่ง ปากมั่ง วิเวกตามฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านพักจำพรรษาที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ ท่านพักจำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพล กับพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒-๑๖ ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดประสิทธิธรรม ประชุมเพลิงขององค์หลวงปู่พรหม ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๔ เป็นที่เรียบร้อยแล้วท่านได้นำคณะศรัทธาญาติโยมก่อสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุอัฐิธาตุและอัฐบริขารของหลวงปู่พรหม

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ท่านพักจำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยโรคมะเร็งในตับ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน๔ เวลา ๒๓.๓๕ น.

สิริอายุ ๗๖ ปี ๕๔ พรรษา


หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ
วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
คัดมาจากหนังสืออนุสรณ์ในงานประชุมเพลิงหลวงปู่ผาง ปริปุณโณ
ณ.เมรุชั่วคราววัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
5 เมษายน 2544

ประวัติในวัยเยาว์ (พ.ศ. 2496 - 2490 )
หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2496 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ ปีขาล ที่บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โยมบิดาชื่อ นายสอน โยมมารดาชื่อนางเหม็น
ในสกุล แมดสถาน มีอาชีพทำไร่ทำนา โดยครอบครัวของหลวงปู่มีญาติพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 8 คน มีดังนี้
1.นายแจ่ม แมดสถาน
2.นายแจ้ง แมดสถาน (ถึงแก่กรรม)
3.นายแสง แมดสถาน
4.หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ
5.นางผิว แมดสถาน (ถึงแก่กรรม)
6.นายคำปลิว แมดสถาน (ถึงแก่กรรม)
7.นางเรียง พรมลาย
8.นายเกิ่ง แมดสถาน

สู่เพศพรหมจรรย์

หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ อุปสมบทเมื่ออายุได้ 21 ปี ตรงกับวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2490 เวลา 14.00 น. ที่วัดชัยมงคล ต.โพนสูง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูอดุลสังฆกิจ ( หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร ) วัดกุดเรือคำ ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
พระกรรมวาจาจารย์ คือ หลวงปู่พร สุมโน วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
พระอนุสาวนาจารย์ คือ หลวงพ่อพุธ ยโส วัดคามวสี ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ได้รับฉายาว่า “สิริปุณโณ”


พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2490 ( เดินทางตามหาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และจำพรรษากับหลวงปู่มั่น )
หลังจาอุปสมบทแล้ว หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ ก็ได้มาจำพรรษาที่วัดป่าประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น กับหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่พรหม ก็ได้พาหลวงปู่ผาง เที่ยวธุดงค์รอนแรมไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อมุ่งหน้าไปกราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เสนาสนะสำนักวัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อมาถึงวัดป่าหนองผือนาในก็ได้เข้าไปกราบหลวงปู่มั่น และกราบเรียนถึงการไปการมาให้ท่านได้รับทราบ และขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน และรับโอวาทธรรมกรรมฐาน ข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ การภาวนา และพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น อยู่เป็นระยะเวลาพอสมควร

( ปล.หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น )

พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2491 ( ความเมตตาจากหลวงปู่มั่น )
ในพรรษานี้ หลวงปู่ผางมีความตั้งใจจะพักจำพรรษากับหลวงปู่มั่นอีก ที่วัดป่าหนองผือนาใน แต่หลวงปู่ผางเดินทางไปถึงก็พบว่ามีพระอยู่จำพรรษากับองค์หลวงปู่มั่น เป็นจำนวนมาก กุฏิที่จะให้พระจำพรรษากับหลวงปู่มั่นมีจำนวนไม่เพียงพอ หลวงปู่มั่นจึงเมตตาให้หลวงปู่ผางไปจำพรรษาที่วัดป่าม่วงไข่ - ผ้าขาว ในเขตอำเภอพรรณนานิคม จ.สกลนคร ใกล้สำนักใหญ่วัดป่าหนองผือนาในนั่นเอง โดยมีพระสงฆ์จำพรรษาด้วยกันทั้งหมด 4 รูป หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ไปกราบนมัสการลาองค์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าหนองผือนาใน เพื่อกลับมาพักวิเวกอยู่กับหลวงปู่พรหม เพื่อออกวิเวกไปยังอำเภอบ้านผือ ในเขตจังหวัดอุดรธานี ที่พระพุทธบาทบัวบก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จนถึงเวลาจวนใกล้เข้าพรรษาจึงเดินวิเวกกลับมายังจังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ 3 พ.ศ. 2492
และได้ติดตามองค์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เดินรอนแรมไปลุถึงเขตอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร และได้พักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านถ่อน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่พรหมได้เดินทางพาหลวงปู่ผาง มุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม เพื่อประชุมคณะสงฆ์เตรียมงานประชุมเพลิงองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และโอกาสนี้หลวงปู่ผาง ได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู) หลังจากได้กราบนมัสการองค์หลวงปู่ขาว แล้วหลวงปู่ก็ได้กราบขออนุญาตหลวงปู่พรหม ติดตามหลวงปู่ขาว ไปธุดงค์วิเวกตามเทือกเขาภูพาน และได้มาแวะพักที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม
( ถ้ำพวง) ในเขตอำเภอส่องดาว จ.สกลนคร หลังจากนั้น หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้พาธุดงค์ไปเรื่อยๆไปตามเทือกเขาภูพาน จนลุมาถึงวัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภุ และได้พักปฏิบัติธรรมภาวนากับหลวงปู่ขาว ระยะหนึ่ง จึงได้กราบลาหลวงปู่ขาว เพื่อปลีกวิเวกไปธุดงค์กรรมฐานต่อไป และได้เดินธุดงค์มาลุถึงเขตจังหวัดเลย ได้ไปกราบหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่เนรมิต อำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้พักอยู่กับหลวงปู่คำดี อยุ่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นหลวงปู่คำดีก้ได้พาเดินปลีกวิเวกไปทางเหนือของอำเภอสังคม จ.หนองคาย เดินเลาะเรียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ลงมายังวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เพื่อกราบนมัสการองค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ในโอกาสนี้ได้พบกับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ (วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี) และหลวงปู่เผย วิริโย (วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย) และได้พักปรารภความเพียรด้วยกันในระยะหนึ่ง หลังจากนั้นหลวงปู่เทสก์ ก้ได้ชักชวนหมู่คณะทั้งหมดข้ามไปยังฝั่งประเทศลาว โดยข้ามทางเรือ ไปวิเวกทางภูเขาควาย อยู่ระยะหนึ่งนานพอสมควร จึงเดินทางกลับมายังฝั่งไทย ที่วัดหินหมากเป้ง หลังจากนั้นได้ออกวิเวกต่อไปยังจังหวัดเลย

พรรษาที่ 4 พ.ศ.2494 พักจำพรรษษที่วัดบ้านนาเชือก จังหวัดเลย หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ธุดงค์กลับภูมิลำเนาเพื่ออุปัฏฐากหลวงปู่พรหม ที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น จ.อุดรธานี หลังจากพักอยู่นานพอสมควรแล้วได้ออกวิเวกไปยังบ้านหนองกุงทับม้า เขต อ.วังสามหมอ และได้วกลับมาที่ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พักอยู่อีกระยะหนึ่ง ก็ได้ปลีกวิเวกลงมาทาง อ.นิคมน้ำอูน บ้านกุดแฮด บ้านกุดไห บ้านค้อน้อย เขต อ.กุดบาก จ.สกลนคร ชึ่งเป็นบริเวณ เทือกเขาภูพาน ถนนหนทางสมัยก่อนทุรกันดานมากต้องไปตามทางเกวียน และได้ข้ามฝากไปยัง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ไปที่บ้านสามผง โดยมีความตั้งใจว่าจะไปกราบนมัสการรับโอวาทธรรมจากหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม แต่ก็ไม่ได้พบท่าน ได้พบ กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน , หลวงปู่บัวคำ ,
พระอาจารย์บัว , และสามเณรหนึ่งรูป รวมทั้งหมด 5 รูป และได้พักอยู่ปฏิบัติธรรมร่วกับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน กับหมู่คณะที่วัดป่าบ้านสามผง
และต่อมาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านได้ปลีกวิเวกออกไปจากหมู่คณะก่อน หลังจากนั้นหลวงปู่ผาง และอาจารย์บัว ได้วิเวกจากบ้านสามผง จ.นครพนม มายังดงหม้อทอง เขต อ.บ้านม่วง , อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และย้อนขึ้นไปยังภูลังกา จ.นครพนม และได้มีโยมผ้าขาวติดตามไปด้วย 1 คน มี่ภูลังกาที่บิณฑบาตก็ลำบากขาดแคลนมาก จึงลงมาพักกับท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่วัดเจติยาคีรีวิหาร ( ภูทอก ) อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย ระยะหนึ่งจึงวิเวกกลับบ้านดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

พรรษาที่ 6 พ.ศ.2495
ได้พักจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม บ้านดงเย็น หลังจากออกพรรษาแล้วได้ลาองค์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ปลีกวิเวกไปยัง จ.สกลนคร ได้ไปพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่อำเภอพรรนานิคม ต่อจากนั้นได้วิเวกกลับมาที่ อ.สว่างแดนดิน เพื่อกราบนมัสการหลวงปู่พร สุมโน และได้พักอยู่กับหลวงปู่พร สุมโน ระยะหนึ่งจึงกลับไปบ้านดงเย็น เพื่อมากราบเยี่ยมหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ชึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเสมอมิได้ลืม และได้พักปรนนิบัติหลวงปู่พรหม ระยะหนึ่งจึงได้กราบลาหลวงปู่พรหม ออกวิเวกไปยังอำเภอส่องดาว กับสามเณรโสกา เย็นอารัญ ( ปัจจุบันนี้ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่บ้านดงเย็น วัดโนนพอก )
ณ สถานที่แห่งนี้ ได้พบกับหลวงปู่ขาว อนาลโย , พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ , หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ,
ที่บ้านนาไทรน้อย ได้พักอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 1 อุโบสถ โดยหลวงปู่ผาง เป็นผู้สวดพระปาฏิโมกข์ถวายหลวงปู่ขาว อนาลโย หลังจากนั้นก็ออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่ขาว มาปฏิบัติภาวนายังวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

พรรษาที่ 7 พ.ศ.2496
ได้มาพักจำพรรษาที่ อำเภอวังสะพุง จ.เลย และได้พบพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต (วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร) และพระอาจารย์เมฆ รวมทั้งหมด 3 รูป หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้ออกวิเวกไปทางวัดถ้ำผาบิ้ง เพื่อไปกราบองคืหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และได้พักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม อยู่ระยะนานพอควร หลังจากนั้นพอออกพรรษาหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้พาออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานไปยังสถานที่สัปปายะที่สงบสงัด โดยได้ขึ้นไปทางเหนือ ข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่า ได้มายัง จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ 8 พ.ศ.2497
พักจำพรรษาที่ป่าบ้านเฮียด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลวงปู่เล่าว่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มี 10 หลังคาเรือนพออาศัยโคจรบิณฑบาตได้ไปวัน ๆ มีพระจำพรรษาด้วยกันทั้งหมด 3 รูป หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางไปกราบองค์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
พักอยู่ระยะหนึ่ง หลวงปู่ชอบได้เดินทางมาพักที่วัดป่าบ้านปง พักอยู่ด้วยกันได้ไม่นาน หลังจากนั้นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้พาหลวงปู่ผาง ไปยังวัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว ได้พบกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม และได้พักปฏิบัติธรรมร่วมกันที่วัดถ้ำผาปล่อง หลังจากนั้นก้ได้พบกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็วิเวกมายังถ้ำผาปล่อง ต่อมาหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ผาง ได้ออกธุดงค์ไปยังสำนักสงฆ์หลวงปู่ตื้อ วัดปากทาง อ.แม่แตง หลังจากนั้นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ปลีกวิเวกออกไปเพียงองค์เดียว และหลวงปู่ผางได้พักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม จนหมดหน้าแล้ง จวนจะเข้าพรรษา และได้กราบลาหลวงปู่ตื้อ เพื่อออกวิเวกองค์เดียวตามลำพัง

พรรษาที่ 35 พ.ศ.2524
ได้เที่ยววิเวกมายัง เขตภาคตะวันออก ได้มาพักจำพรรษาที่บึงสอ หมู่บ้านเกาะกระทิง อ.สนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากออกพรรษาแล้ว คณะญาติโยมชาวบ้านดงเย็น ได้กราบอาราธนานิมนต์องค์หลวงปู่ผาง ให้กลับมาจำพรรษาที่ประสิทธิธรรมตามเดิม

พรรษาที่ 36 – 39 พ.ศ.2525 – 2528
พักจำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม ได้นำคณะศรัทธาชาวบ้านและญาติโยม เข้าทำการซ่อมแชมปรับปรุงเสนาสนะภายในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดียิ่งขึ้น หลังจากออกพรรษาแล้ว ปีพ.ศ.2528 หลวงปู่ผางก้ได้เดินทางธุดงค์ปลีกวิเวกไปยังจังหวัดเลย จ.เพชรบูรณ์ และธุดงค์วิเวกเข้าไปยังภาคกลาง เขตจังหวัดนครสวรรค์

พรรษาที่ 40 พ.ศ. 2529
พักจำพรรษาที่ถ้ำเขาเรือ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ หลังจากออกพรรษาแล้ว ช่วงนี้พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ และคระได้ติดตามมาอาราธนานิมรต์หลวงปู่ขอให้หลวงปู่กลับไปตรวจเช็คร่างกายที่กรุงเทพฯ หลังจากหลวงปู่ตรวจเช็คและสุขภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก้ได้เดินทางปลีกวิเวกไปยังทาง จ.ลพบุรี ชึ่งเป็นสถานที่เต็มไปด้วยภูเขา และสับปายะ สงบ เหมาะแก่การทำความเพียรภาวนาอย่างยิ่ง

พรรษาที่ 41 – 48 พ.ศ.2530 – 2537
พักจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน ( วัดเขาจีนแล ) อ.เมือง จ.ลพบุรี กับท่านพระอาจารย์สมุทร อธิปัญโญ ได้พำนักพักบำเพ็ญเจริญสมาธิภาวนา อากาศดีมาก ได้พักอยู่สักระยะหนึ่ง ชาวบ้านแถบนั้นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่ผางเป็นจำนวนมาก จึงได้พากันกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่นี่ให้นานๆ ไม่อยากให้ไปที่อื่นอีก
จนกระทั่งในปี 2537 หลังจากออกพรรษาแล้วคณะชาวบ้านดงเย็น จ.อุดรธานี ได้ไปกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ให้กลับมาบ้านดงเย็นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากกลับมาแล้วหลวงปู่ก็ปรารภเรื่องการรื้อถอนวิหารหลังเก่า ที่ชำรุดทรุดโทรมออกไป และทำการบูรณะวิหารขึ้นมาใหม่ แทนหลังเก่าชึ่งเป็นไม้ แต่ท่านพระอาจารย์สำเนียง สิริจันโท ชึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ ได้กราบเรียนหลวงปู่ขอเอาไว้ว่า จะขอทำการบูรณะซ่อมแซมแทนองค์หลวงปู่เอง

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี





www.facebook.com/groups/226951157350091
http://luangpumun.blogspot.com/

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

บทบูชาพระรัตนตรัยนี้ เป็นลิขิตของพระกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่มอบกาย ถวายชีวิต อุทิศเพื่อ พระพุทธศาสนา พระคุณเจ้า รูปนี้คือ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

ชีวประวัติ ของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นชีวิต แห่งสมณะ ผู้ละวางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มุ่งสู่ ความหลุดพ้น อย่างจริงจัง มั่นคง

ท่านเกิดเมื่อ วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 ที่บ้านกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายคูน เสวตร์วงศ์ มาดาชื่อ นางแพง เสวตร์วงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง 8 คน อาชีพของครอบครัว คือทำนา ท่านศึกษา ในโรงเรียน ชั้นประถม ปีที่ 2 ก็ต้องออกมา

ในวัยเยาว์ ท่านได้มีโอกาส รับใช้พระธุดงค์ ที่จาริกมา ในละแวกบ้าน ซึ่งมีส่วนช่วย หล่อหลอมจิตใจ ให้ใฝ่ในทางธรรม

อายุ 18 บวชเป็นเณร เมื่ออายุครบเกณฑ์ ก็ได้บวช เป็นพระ ตามประเพณี จากนั้น ก็ลาสิกขา มาครองเรือน ได้ประสพ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แห่งสังขาร และการพลัดพราก

ครั้นปี พ.ศ.2486 บวชเป็น พระมหานิกาย ที่วัดบ้านยาง มีพระครูคูณ เป็นอุปัชฌาย์ พรรษาแรก ก็สอบนักธรรมโทได้

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 ท่านได้ญัตติ เข้าในคณะธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งเป็นพระเทพกวี เป็นอุปัชฌาย์ และให้ท่าน ไปพำนัก ฝึกการปฏิบัติ กับหลวงปู่บุญมี ชลิตโต ที่วัดโพธิ์ชัย หนองน้ำเค็ม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัด ที่เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เคยอาราธนา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปพำนัก ครั้งที่ท่าน กลับจากเชียงใหม่ และหลวงปู่ บุญมี เคยได้รับการศึกษา อบรม กับท่านพระอาจารย์มั่น และดำเนิน ปฏิปทา ตามพระบุพพาจารย์

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี

www.facebook.com/groups/226951157350091
http://luangpumun.blogspot.com

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มีนามเดิมว่า สิงห์ทอง ไชยเสนา เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน อำเภอลุมพุกเปลี่ยนเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับจังหวัดยโสธร และปัจจุบันบ้านศรีฐานเป็นตำบลศรีฐาน ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร)

ท่านมีพี่น้องร่วมมารดา-บิดาเดียวกัน ๕ คน เป็นชาย ๓ เป็นหญิง ๒ บิดาของท่านชื่อ นายบุญจันทร์ ไชยเสนา มารดาชื่อนางอบมา ไชยเสนา ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ พี่ชายของท่านคนหัวปีได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก

ส่วนพี่ชายคนรองก็ได้เสียชีวิตไปอีกในตอนที่มีครอบครัวและมีลูก ๓ คนแล้ว ยังเหลืออยู่แต่น้องสาวของท่าน ๒ คน ชื่อ นางกรอง จันใด และนางแก้ว ป้องกัน


๏ ปฐมวัย-การศึกษา-อุปสมบท

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะปฏิสนธิ โยมแม่ของท่านฝันว่ามีคนเอาห่อของไปให้ แล้วบอกโยมแม่ของท่านว่านี้เป็นของฝากของเทวดา ให้เก็บรักษาเอาไว้ เมื่อแก้ออกดูเป็นซ้องกับหวี

ต่อมาโยมแม่ของท่านก็ตั้งท้อง เมื่อยังเป็นเด็ก ท่านได้ช่วยพ่อแม่ผู้มีอาชีพทำนาและช่วยในกิจการทุกอย่างเท่าที่จะช่วยได้ เมื่อท่านอายุครบพอเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนประชาบาลจนจบชั้น ป. ๔

ครั้นเรียนจบชั้น ป. ๔ แล้ว ท่านก็ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาต่อไป จนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ก่อนเข้าพรรษา ๗ วัน ณ พัทธสีมาวัดป่าสำราญนิเวศน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ์ (พระมหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์เดียวกันกับ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย แต่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองบวชหลัง ๑ พรรษา

ครั้นบวชแล้วได้มาจำพรรษา ณ วัดป่าศรีฐานใน ซึ่งเป็นวัดป่าของหมู่บ้านศรีฐาน โดยมี ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ เป็นพระอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนด้านสมาธิภาวนา

ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์องค์นี้บวชที่วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านเกิดที่บ้านหัวเมย ทุกวันนี้เข้าใจว่าเป็นอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เดิมท่านเป็นครูประชาบาล ต่อมาท่านได้ลาออก

นิสัยของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ เป็นคนพูดน้อยและไม่เคยดุใครเลย ท่านขยันทำความเพียรมาก ปกติพอฉันจังหันเสร็จท่านมักจะเข้าที่เดินจงกรม ท่านเดินได้ตลอดวัน ไปเลิกเอาเวลาประมาณบ่าย ๔ โมง ซึ่งเป็นเวลาทำกิจวัตรปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้ น้ำฉัน เป็นต้น

สมัยที่ท่านยังไม่ได้บวชพระ ยังเป็นตาปะขาวอยู่ ได้ฝึกหัดด้านสมาธิภาวนากับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน ท่านเคยอดอาหารติดต่อกันเป็นเวลา ๑๔ วันเพื่อทำความเพียรให้จิตสงบ

ในช่วงเวลาที่อดอาหารนั้น ท่านได้ทำข้อวัตร คือ ท่านตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่โอ่ง ใส่ไหให้ครูบาอาจารย์ในวัดทุกวัน โดยท่านตั้งใจไว้ว่า ตราบใดที่ยังรู้สึกว่าการหาบน้ำยังหนักอยู่จะไม่ยอมหยุด จะทำอยู่อย่างนั้น เมื่อเต็มหมดโอ่ง ตามตุ่ม ตามไหแล้ว ท่านก็รดน้ำต้นไม้ต่อ ทำจนว่าไม่มีความรู้สึกหนัก หาบน้ำข้างละ ๑ ปีบ ท่านว่าเหมือนเดินไปตัวเปล่าแล้วท่านจึงได้หยุด ท่านเป็นคนที่พูดน้อยแต่ทำจริง (อย่างที่ว่าพูดน้อยแต่ต่อยมาก)

ทั้งนี้หมายความว่า การที่ผู้ประสงค์จะบวชเป็นพระกรรมฐาน สมัยก่อนนั้นครูบาอาจารย์จะทดสอบด้านสมาธิภาวนาให้เป็นที่พอใจ แล้วจึงอนุญาตให้บวชเป็นพระได้ บางราย ๓ ปีก็มี


๏ อยู่ด้วยพระอาจารย์บุญสิงห์

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้มาอยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านว่าการทำความเพียรไม่ให้ถือเอาเวลา ให้ถือเอาความสงบเป็นสำคัญ

ให้ทำความเพียรไปจนกระทั่งจิตสงบลงรวมจึงหยุด หมายความว่า ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนา จะเป็นเวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ถ้าจิตยังไม่สงบแล้วห้ามเลิก คือ ท่านทำของท่านแบบนั้น ถ้าในกรณีจำเป็น เช่น จะต้องไปบิณฑบาต ฉันจังหัน เมื่อเสร็จกิจแล้วให้เข้าที่ภาวนาต่อจนกว่าจิตจะลงรวมได้จึงจะหยุดพักผ่อน

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) ฟังว่า มีคราวหนึ่งท่านพาเดินทางไปธุระ เดินไปตลอดวัน เวลาพักก็พักในโบสถ์ด้วยกัน ท่านเตือนว่า อย่าเพิ่งนอนเลย ให้ทำจิตให้สงบก่อน ถ้านอนเลยมันจะนอนมาก ถ้าได้พักจิตให้สงบก่อนแล้ว นอนหลับนิดเดียวก็อิ่ม

ท่านเตือนอย่างนั้น แล้วต่างองค์ต่างก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยก็เข้ามาพัก แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ท่านยังไม่เข้ามา ท่านยังเดินจงกรมอยู่ นั่งภาวนาไปพอสมควรแล้วก็ล้มนอนลง เวลาตื่นขึ้นมามองเห็นท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ ท่านนั่งสมาธิอยู่ เลยไม่ทราบว่าท่านนอนเมื่อไร ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอย่างนั้นเสมอๆ

ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู (ในปัจจุบัน) ได้เคยเล่าให้ฟังครั้งสมัยที่ท่านยังเป็น สามเณรบุญเพ็ง จันใด อยู่ว่า ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ได้ชวนไปภาวนาที่ป่าช้า (ป่าช้าบ้านศรีฐาน) ท่านพาเดินจงกรม

ทีแรกก็คิดในใจว่าจะเดินแข่งกะท่าน ว่าคนแก่จะเดินเก่งขนาดไหน แต่พอเดินไปๆ เจ้าหนุ่มน้อยเหนื่อย สู้ไม่ไหว ก็เลยขึ้นกะแคร่นอน พอตื่นขึ้นมายังมองเห็นท่านยังเดินอยู่ จนจะถึงเวลาปัดกวาด คือ ๔-๕ โมงเย็น ท่านจึงพากลับ บทเวลาท่านนั่ง ท่านก็นั่งได้ทั้งวันอีกแหละ เพราะทำไม่ถอย

ทางเดินจงกรมของท่านพระอาจารย์บุญสิงห์มีอยู่ ๓ เส้น แต่ละเส้นเดินจนเป็นร่องลึก ต้องได้ถมกันอยู่บ่อยๆ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองกล่าวว่า ท่านอยู่ได้เพราะมีอาจารย์ผู้นำดี ท่านปฏิบัติดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ทำให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมีความมานะ พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา ตามแบบฉบับของพระอาจารย์ของท่าน เวลากลางคืนเมื่อไปจับเส้นถวายท่าน ถ้าวันไหนจิตไม่สงบ ท่านจะพูดธรรมะในด้านอสุภกรรมฐานให้ฟัง ถ้าวันไหนภาวนาดี จิตสงบ ท่านพระอาจารย์จะนิ่ง ไม่พูดอะไร

เกิดสุบินนิมิต

การภาวนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองในพรรษาต้นๆ นั้นง่าย จิตของท่านสงบลงรวมได้ง่าย แม้กระทั่งทำวัตรไหว้พระสวดมนต์อยู่กับหมู่คณะ กำหนดไปตาม จิตของท่านก็สามารถสงบลงรวมได้เป็นบางครั้ง

แต่ความตั้งใจของท่านนั้น ตั้งใจว่าจะลาสิกขา เกรงว่าถ้าทำความเพียรมากแล้วจะเป็นพระอรหันต์ จะไม่ได้สึก ครั้นเมื่อท่านตัดสินใจที่จะไม่สึกแน่นอนแล้ว การภาวนากลับยาก ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน

ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านได้เกิดสุบินนิมิตปรากฏว่ามีพาหนะ ๓ ชนิด คือ ช้างเผือก ม้าขาว และวัวอุสุภราช ท่านมีความรู้สึกในความฝันว่า ท่านได้ขี่พาหนะทั้ง ๓ ตัวนั้น

ท่านองค์เดียวแต่ขี่พาหนะได้ทั้ง ๓ ตัว ในขณะเดียวกัน และได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงออกมาจากหมู่บ้านดังออกมายังศาลาที่วัด คล้ายกับว่าชาวบ้านจะมาทอดผ้าป่าหรือทำการกุศลชนิดใดชนิดหนึ่ง

แต่พอมาถึงปรากฏว่าไม่มีคน มีแต่ดอกไม้นานาชนิดลอยมาสูงระดับหน้าอก แล้วเวียนรอบศาลา ก็พอดีท่านรู้สึกตัวตื่นจากความฝัน นี่เป็นเหตุให้ท่านมีความมั่นใจว่า การบวชของท่านนั้นจะบรรลุผลอันพึงพอใจ

ในช่วงที่อยู่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ได้ศึกษาคือเรียนนักธรรมควบคู่กันไปกับการปฏิบัติภาวนา และท่านก็สอบได้นักธรรมชั้นโท

ในช่วงพรรษาแรก

ในช่วงระหว่างที่ท่านอยู่วัดป่าศรีฐานในนั้น มีชาวบ้านศรีฐานไปติดเชื้อฝีดาษมาจากที่อื่น และมาป่วยตายที่บ้านศรีฐาน ชาวบ้านยังไม่รู้จักก็พากันไปงานศพตามประเพณีของทางอีสาน

คนที่ไปงานศพนั้นติดเชื้อฝีดาษกันทุกคน ฟังว่าเชื้อนี้ไปจากเพชรบูรณ์ คนที่ตายคนแรกเป็นทหารสมัยเพชรบูรณ์ โรคนี้จึงระบาดไปทั่วทั้งหมู่บ้าน มีคนตายวันละ ๗-๘ คนทุกวัน

จนชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ตามทุ่งตามนา และภายในหมู่บ้านเงียบเหงาวังเวงมาก เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านก็มานิมนต์พระไปสวดมาติกาบังสุกุล ทำบุญให้กับผู้ตาย

ระหว่างนี้วันหนึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองท่านฝันว่า ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย สมัยท่านยังเป็นเด็ก เอาพุลูกเหล็ก (ไม้ซาง) มายิงท่าน ท่านห้ามว่าอย่ายิงๆ ก็ไม่ฟัง ก็เลยยิงท่านจริงๆ ท่านว่าเข้าไม่ลึกเท่าไร

และท่านพระอาจารย์เพียรพูดว่า ยิงแค่นี้จะเปื่อยไปทั้งตัวนะ แล้วท่านพระอาจารย์ก็หักพุลูกเหล็ก (ไม้ซาง) แล้วตีท่านพระอาจารย์เพียรจนเลือดอาบทั้งตัว

ท่านพระอาจารย์เพียรนี้ท่านเป็นญาติกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง คือโยมแม่ของท่านพระอาจารย์เพียรเป็นพี่สาวของโยมพ่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง

พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น เมื่อได้โอกาสท่านก็เล่าความฝันนั้นถวายท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ และท่านพระอาจารย์บุญสิงห์ก็ทำนายความฝันได้อย่างแม่นยำว่า

ท่านจะต้องเป็นฝีดาษกับเขานะ แต่ไม่ตายดอก เพราะท่านได้ชนะเขา พอท่านทราบดังนั้น ท่านจึงได้หลบโรคร้ายนี้ไปพักอยู่ที่วัดป่าหนองไคร้ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ ปรากฏว่ามีความรู้สึกเหมือนแผ่นดินหมุนติ้ว จนท่านไม่สามารถยืนอยู่ได้ จึงล้มตัวลง แล้วค่อยพยุงตัวไปยังที่พัก แล้วปรากฏว่าปวดหัวอย่างแรง ท่านจึงลุกขึ้นนั่งภาวนา

โดยตั้งใจว่าถ้าความปวดนี้ไม่หายเมื่อใดจะไม่ยอมเลิก ตั้งใจเสียสละชีวิตต่อสู้ทุกขเวทนา ถึงอย่างไรจะต้องพิจารณาให้รู้จักทุกขเวทนานี้ให้ได้ ท่านได้ต่อสู้ทุกขเวทนาจนจิตของท่านสงบ และปรากฏว่าทุกขเวทนาหายเงียบไปหมด พอทุกขเวทนาหายไปหมดแล้ว ท่านจึงออกจากสมาธิแล้วล้มตัวลงนอน และได้กลิ่นตัวของตัวเองคล้ายๆ กับกลิ่นฝีดาษ จึงทราบว่าท่านได้ติดเชื้อฝีดาษแล้ว ครั้นต่อมาก็มีอาการไข้

เมื่อโยมพ่อของท่านได้ทราบข่าวการป่วยของท่าน โยมพ่อของท่านจึงไปรับท่านกลับมาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานใน ท่านพยายามเดินมาจนถึงวัดเพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถ ระยะทางก็ประมาณ ๓๐๐ เส้น (๑๒ กิโลเมตร)

ต่อมาตุ่มก็เริ่มออก ตุ่มออกเต็มทั้งตัวจนกระทั่งฝ่ามือฝ่าเท้า ต่อมาพอตุ่มสุกแล้วก็เปื่อย โรคอันนี้เหม็นคาวมาก ท่านพระอาจารย์ถึงต้องนอนใบตองกล้วย เพราะออกแสบออกร้อนสารพัด

ขณะนั้นท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ยังเป็นสามเณรอยู่ เป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ แต่ท่านพระอาจารย์บุญสิงห์สั่งพระเณรที่อุปัฏฐากรักษาว่าอย่าเข้าไปทิศใต้ลม ให้เข้าไปทางทิศเหนือลม ให้สังเกตดูลมเสียก่อน ท่านกลัวว่าเชื้อโรคจะติดพระเณร ในที่สุดท่านก็หายและรอดตายมาได้โดยไม่มีรอยแผลเป็นเหมือนกับคนอื่นที่เคยเป็นโรคนี้แต่ส่วนมากมักจะตายกัน ถ้าลงได้เป็นโรคอันนี้แล้วจะเหลือเพียง ๒๐ % เท่านั้น

ไปบอกลากำนันเหลา

ในช่วงพรรษาที่ ๑-๔ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๐ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจำพรรษาที่วัดป่าศรีฐานใน ๓ พรรษา และวัดป่าบ้านหนองแสง ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร อีก ๑ พรรษา ครั้นพรรษาที่ ๔ ล่วงไปแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เดือน ๓ (เดือนกุมภาพันธ์) ท่านก็ได้ออกธุดงค์

โดยมุ่งหน้าจะไปไหว้ พระธาตุพนม มีพระเณรติดตามท่านไปด้วย ๓ องค์ ๔ กับองค์ท่าน เป็นสามเณร ๒ องค์ เป็นพระ ๒ องค์ และ ท่านพระอาจารย์พวง สุขินทริโย (สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระเทพสังวรญาณ) วัดศรีธรรมาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว) สมัยนั้นท่านยังเป็น สามเณรพวง ลุล่วง อยู่ ท่านก็ได้ติดตามท่านพระอาจารย์ไปด้วย

ก่อนจะออกเดินทางจากบ้านศรีฐาน ท่านได้ไปบอกลา กำนันเหลา ซึ่งกำนันเหลาคนนี้เคยพูดกับท่านพระอาจารย์เอาไว้สมัยท่านจะบวชว่า “ถ้ามึงบวชอยู่ได้พอพรรษาแล้ว ให้มึงมาขี้ใส่บ้านกูนะ ชอบที่ไหนให้ขี้ใส่เลย ให้เอาหมอนกูนั้นเช็ดก้น” ท่านพระอาจารย์จำได้ไม่ลืม

เวลาท่านจะออกจากบ้านไปเที่ยววิเวก (ธุดงค์) ท่านจึงได้ไปลา พอขึ้นไปบ้าน เขาก็ปูสาดปูเสื่อต้อนรับ พูดคุยหัวเราะกันเพราะออกจะสนิทกันอยู่มาก พอแล้วท่านพระอาจารย์ก็มองโน้นมองนี้แล้วพูดว่า จะให้ขี้ใส่ตรงไหนล่ะ

กำนันเหลาร้องโอ้ย ผมนึกว่าครูบาลืมแล้ว หัวเราะกัน แล้วก็ขอขมาคารวะท่าน อย่าให้โยมเป็นบาปเป็นกรรมเน้อ โยมไม่นึกว่าครูบาจะอยู่ได้ ได้เวลาพอสมควรแล้วท่านพระอาจารย์ก็ลากลับวัด

เหตุใดกำนันจึงพูดอย่างนี้กับท่าน เพราะท่านพระอาจารย์สมัยที่ยังไม่บวชเป็นคนขี้ดื้อ (ซน) ชอบเล่นสนุก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นนักเลงดอกนะ การลักการขโมย การฆ่าการตีคนอื่นนั้น ไม่ใช่ เพียงแต่นิสัยของท่านชอบเล่นสนุก

โยมแม่ของท่านเคยเล่าให้ฟัง แม้กระทั่งวันจะบวช พอโกนผมเสร็จแล้ว ยังไม่ถึงเวลาบวช ท่านก็ยังชวนหมู่ที่เป็นนาคด้วยกันซนกัน ว่าหัวโล้นชนกันเถอะแล้วก็ไล่ชนกันกับหมู่ตามใต้ถุนศาลา

แล้วทำเหมือนควายจะชนกัน พูด แงะ-แงะ แล้วเบิดไล่ชนกัน โยมแม่ของท่านพูด ช่างไม่อายชาวบ้านอื่นเขา เพราะที่ไปบวชนั้นก็มีหลายหมู่บ้าน ท่านขี้ดื้อ (ท่านซน) ไปในลักษณะนี้แหละ

ท่านออกเดินทางไปไหว้พระธาตุพนม

สมัยก่อนชาวจังหวัดอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าชาวอีสานส่วนใหญ่แทบทุกจังหวัด นิยมเดินทางไปนมัสการ พระธาตุพนม กันเป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่จะไปกันตอนเดือน ๓ เพ็ญ เพราะมีงานในช่วงนี้ ทางวัดจัดงานไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี สมัยก่อนที่ไปมาหาสู่กันสะดวก ทางฝั่งลาวก็ข้ามน้ำมาร่วมกันเป็นจำนวนมากเหมือนกัน การเดินทางจะเดินไปด้วยเท้าเพราะสมัยก่อนยังไม่มีรถมาก และถนนหนทางรถก็ไม่ค่อยดี

ตอนหลังๆ มาหน่อย ถึงจะมีรถไปรับ (รถรับเหมา) บางคนบางหมู่ก็จะไม่ยอมขึ้นรถไป เขาพูดกันชวนกันว่า เราเดินไปจึงจะได้บุญมาก ได้บุญทุกก้าวเดิน เห็นพวกโยมแม่เคยไปกัน ถ้าขึ้นรถไปกลัวจะไม่ได้บุญมาก

การเดินทางก็เดินตามทางเกวียน เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น อาหารและน้ำก็อาศัยขอตามหมู่บ้านที่ผ่านไป แต่ชาวอีสานเดิมก็มีดีอยู่อย่าง คือ เวลามีแขกมาพัก ส่วนมากจะพักในวัดกัน

พอตกกลางคืนถึงเวลากินข้าว ชาวบ้านจะพากันเอาข้าวเอาอาหารมาส่ง สุดแล้วแต่เขาจะมีอะไร มีน้ำพริก หรือปลาร้า ผัก เหล่านี้เป็นต้น จะไม่ค่อยได้ซื้อกันเหมือนสมัยทุกวันนี้

พวกหนุ่มสาวก็ลงมาคุยกันก็มี เพราะไปแต่ละหมู่ แต่ละคณะก็มีทั้งหนุ่มทั้งแก่ ถ้าไปอย่างนี้สมัยก่อนจะต้องมีคนแก่ไปด้วย ถ้าไม่มีคนแก่ไปด้วย หญิงสาวจะไม่ยอมไปเด็ดขาด ต้องอาศัยคนแก่

ในระหว่างทางที่เดินไป บางแห่งก็ร่มรื่นด้วยแมกไม้ ทุกคนดูจะมีความสุขที่จะได้ไปไหว้พระธาตุพนม และการเดินทางก็ปลอดภัย ปราศจากอุบัติเหตุและโจรผู้ร้าย บางพวกก็เป่าแคนร้องรำกันไป เป็นที่สนุกสนานตลอดระยะทาง

สำหรับท่านพระอาจารย์นั้นก็ได้เดินทางไปเหมือนกัน พอไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อบ้านตากแดด อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ท่านทราบว่ามีถ้ำที่ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่ใหญ่เท่าไรนัก ชื่อว่า ภูทอก มีถ้ำ

แล้วเมื่อท่านพระอาจารย์และหมู่ไปถึง ก็คิดอยากจะไปพักในถ้ำ เพราะท่านยังไม่เคยเที่ยวในถ้ำมาก่อนเลย ถามชาวบ้าน ชาวบ้านเขาก็ห้ามว่าครูบาจะอยู่ได้หรือ ถ้ำนี้เข็ดมากนะ (แรงมากนะ)

เมื่อ ๒-๓ วันก็มีพระมาพัก แต่อยู่ไม่ได้ หนีไปกลางคืนเลย ครูบาจะอยู่ได้หรือ ชาวบ้านเขาห้าม แต่ท่านพระอาจารย์ก็อยากจะลองพักดู เลยขอให้ชาวบ้านไปส่ง เมื่อเขาตามไปส่งถึงถ้ำแล้วเขาก็กลับ

ท่านพระอาจารย์และพระเณรที่ไปด้วยกันก็ทำข้อวัตร ปัดกวาดเสร็จแล้วก็สรงน้ำสรงท่าเสร็จ เป็นเวลาจวนจะมืด ต่างองค์ต่างเดินจงกรม ส่วนท่านพระอาจารย์ท่านเดินอยู่ที่ปากถ้ำ

พอมืดเข้ามาหน่อยก็ได้ยินเสียงดังลงมาจากหลังเขา คล้ายๆ กับเสียงลมพัดหนักๆ พอดีวันนั้นเป็นวัน ๑๔ ค่ำ ไม่ทราบว่าข้างขึ้นหรือข้างแรม จำไม่ได้ เสียงนั้นก็ดังใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาเรื่อย

แต่เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามา ปรากฏว่าไม่ใช่เสียงลมเสียแล้ว เป็นเสียงงูเหมือนงูเลื้อยมา เสียงท้องของงูกวาดกับหิน ปรากฏว่าจะตัวใหญ่มากทีเดียว ในความรู้สึกของท่านว่าเหมือนกันกับลากเสื่อหวาย ธรรมดาเสื่อหวายจะกว้างกว่าเสื่อธรรมดาประมาณเมตรห้าสิบหรือสองเมตร ท่านว่าถ้าเป็นงูก็จะตัวใหญ่ขนาดนั้นแหละ

ในภูเขาลูกนี้มีหลวงพ่อองค์หนึ่งท่านประจำมานานแล้ว แต่ท่านเป็นพระมหานิกาย (มหานิกายปฏิบัติ) ท่านได้ยินเสียงด้วย ท่านก็เลยตะโกนบอกว่า ไม่เป็นไรดอก มาเยี่ยมเฉยๆ

แต่ด้วยเหตุที่ท่านพระอาจารย์ไม่เคยประสบมาก่อน และยังไม่เคยออกวิเวกตามถ้ำตามเขามาก่อนเลย ท่านก็อดกลัวไม่ได้ ท่านว่าเมื่อเสียงยังดังอยู่ไกลหน่อย เดินจงกรมก็สุดทางข้างนั้นข้างนี้ เมื่อเสียงนั้นใกล้เข้ามาๆ เดินจงกรมไปได้ครึ่งทางเพราะกลัว

พอใกล้เข้ามาจริงๆ ก็ก้าวขาไม่ออกเลย ท่านว่า นึกจะสวดกรณี ก็ได้แต่ กรณี กรณี ขยายความไปไม่ได้ ท่านว่าคนเราเมื่อกลัวถึงที่แล้วจิตจะไม่ปรุง จิตตั้งอยู่เหมือนกับเทียนอยู่ในโคมไฟ มันปรุงไม่ออก

ท่านว่า จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไป ท่านพระอาจารย์และพระเณรก็เข้าที่ของใครของมัน สำหรับท่านพระอาจารย์มีแคร่นอน แต่องค์อื่นนอนกับพื้น

พอขึ้นแคร่แล้วก็ทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ เสร็จแล้ว ก็นั่งภาวนา เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้วก็เลยนึกว่า วันพรุ่งนี้จะต้องเดินทางต่อ จะพักสักหน่อย ถ้าไม่พักนอนเลยก็จะเหนื่อยในการเดินทาง

แล้วก็ล้มตัวลงนอน ภาวนาไปด้วย พอเคลิ้มจะหลับ ก็ได้ยินเสียงขู่ขึ้นมาจากใต้แคร่ ท่านก็รู้สึกตัวว่าเสียงที่ขู่ขึ้นมานั้นเป็นเสียงงู ท่านพระอาจารย์ก็เลยปลุกพระเณรว่า ลุกๆ งูจะกินหัวนะ ท่านเจ้าคุณพวง สุขินทริโย (สมัยนั้นท่านยังเป็น สามเณรพวง ลุล่วง) ท่านว่ายังไม่หลับ

พอหมู่ลุกขึ้นนั่งหมดแล้ว ก็ขู่ขึ้นมาอีก ท่านพระอาจารย์ก็เลยพูดว่าเดี๋ยวนะ ผมจะขีดไม้ขีดเพราะแต่ก่อนท่านไม่มีไฟฉาย มีแต่ไม้ขีดที่ใส่น้ำมันก๊าด ท่านก็ขีดไม้ขีด ยื่นแขนออกมาจากมุ้ง ท่านยังไม่ได้ลุกนะ

แล้วเสียงก็ขู่ดังขึ้นมาอีกเป็น ๓ ครั้ง ส่องดูก็ไม่มีอะไร จากนั้นเสียงก็ดังลงไปข้างล่าง เหมือนกับป่าไม้ป่าไผ่แถวนั้นจะราบไปหมด ในความรู้สึกของท่าน ท่านนอนก็ไม่เป็นหลับเป็นตื่นเพราะกลัว

เวลารุ่งเช้าขึ้นมา ป่าไม้ก็ปกติธรรมดา ท่านพระอาจารย์ก็เลยพูดกับหมู่ว่า ถ้าเราจะเดินทางวันนี้เลยก็กลัวว่าเขาจะตำหนิว่าเรากลัว นอนได้คืนเดียวก็เผ่น ท่านว่าเราพักอีกสักคืนเถอะ ก็เลยได้ค้างที่ถ้ำนั้น ๒ คืน

แต่คืนหลังนี้เงียบ ไม่มีอะไร หลวงพ่อองค์ที่อยู่นั้นเล่าให้ท่านฟังว่า ในเดือนหนึ่งจะมีอยู่ ๔ ครั้ง คือ ขึ้น ๗-๘ ค่ำ, ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรม ๗-๘ ค่ำ, ๑๔-๑๕ ค่ำ วันนอกนั้นก็ธรรมดา ไม่มีอะไร

ในบริเวณถ้ำแห่งนี้ คนจะไปทำผิดศีลผิดธรรมไม่ได้ จะมีอันเป็นไปให้เห็น อย่างว่าไปฆ่านก หรือกบเขียด หรืออะไร ในบริเวณนั้น ก้อนหินจะกระโดดปั๊บๆ ร้องเป็นเสียงนก เสียงกบ เสียงเขียด เวลาไปดูแล้วก็เป็นก้อนหิน

ในบริเวณนั้นแต่ก่อนหลวงพ่อองค์นั้นว่า อดน้ำ กันดารน้ำใช้น้ำฉัน ท่านเลยจุดธูปเทียนอธิษฐานขอน้ำ ก็เลยปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมาจากแอ่งหิน วันหนึ่งท่านพระอาจารย์ว่าหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า มีแม่ออกคนหนึ่ง (ผู้หญิง) ไปเก็บมะม่วงไข่ตามแถวนั้น หิวน้ำ ก็เลยมากินน้ำ เลยคิดอยากจะอาบน้ำเพราะร้อน ก็เลยอาบน้ำ แต่เข้าใจว่าคงเปลือยกาย อาบ เสร็จแล้วก็กลับบ้าน จากนั้นน้ำนั้นปรากฏว่าน้ำมีกลิ่นเหม็นคลุ้งเหมือนกับซากวัวซากควายตาย

แล้วน้ำนั้นก็ได้แห้งไป จากนั้นหลวงพ่อก็ไม่มีน้ำจะใช้จะดื่ม จึงอธิษฐานขอใหม่ พร้อมกับว่าจะบอกไม่ให้เขาทำอย่างนั้นอีก น้ำนั้นจึงได้ไหลออกมาอีกตามเคย


๏ หนูเดินจงกรม

หลวงพ่อพูดต่อไปว่า วันหนึ่งท่านพาชาวบ้านไปนวดดิน ท่านจะทำธาตุ (เจดีย์) นวดดินปั้นอิฐ พอกลับมาเหนื่อย เลยไม่ได้เดินจงกรม พอวันหลังก็พาชาวบ้านไปทำอีกเพราะยังไม่เสร็จ

แต่บังเอิญท่านลืมของใช้ ท่านจึงกลับมาเอาของ แต่ก่อนท่านคงจะพักอยู่ในถ้ำ พอมาถึงถ้ำแล้ว มองเห็นผิดสังเกต คือมองเห็นหนูเดินจงกรมที่ถ้ำนั้นข้างบน มีหินยื่นออกมาประมาณ ๑ คืบ หรือ ๑ ฟุต ยาวไปตามถ้ำ

หนูตัวนั้นเดินไปพอถึงสุดทางด้านนั้น ก็กลับคืน แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกับกำหนดจิต พอสมควรแล้วก็เอาขาหน้าลง แล้วเดินไป พอถึงหัวท้ายข้างนั้นก็กลับหลัง แล้วยืน ๒ ขา เอาขาหน้ากอดอก ยืนอยู่คล้ายกำหนดจิตอีก แล้วเดินกลับไปกลับมาอยู่นั้น

หลวงพ่อท่านเห็นแล้วก็ระลึกได้ว่า นี่หนูมันเดินจงกรม คงจะเป็นเทวดาหรือเจ้าที่แสดงให้เห็น เพราะเมื่อวันก่อนนั้นท่านขาดการเดินจงกรม ต่อมาหลังจากนั้น ท่านจึงไม่เคยขาดการเดินจงกรม นั่งภาวนา ถึงจะเหน็ดเหนื่อยก็ต้องบังคับตัวเองทำ ไม่เคยขาด

ถึงพระธาตุพนม

ท่านพระอาจารย์เมื่อเดินทางถึง พระธาตุพนม แล้ว ก็ได้เข้าไปกราบนมัสการพระธาตุพนม เสร็จแล้วก็ได้ออกไปพักวิเวกแถวบ้านน้ำก่ำและหมู่บ้านริมโขงแถวนั้น หน้าเดือนกุมภาพันธ์ (เดือน ๓ นี้) มะขามหวานกำลังสุก

เขตเมืองมุก เมืองธาตุพนมนั้น มีมะขามหวานมาก เขาเอามะขามหวานมาจังหัน เห็นว่าท่านชอบฉัน เขาก็เอามาไม่ขาด ต่างคนต่างเอามาและจะให้ท่านพระอาจารย์เป็นคนตัดสินว่าของใครจะหวานกว่ากัน

เขาเอามาแข่งกัน ท่านพระอาจารย์ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ถ้าจะบอกว่าของคนนั้นดี ของคนนี้ไม่ดี ก็คงจะกลัวว่าเขาจะเสียใจและไม่เอาไปจังหันอีก ท่านก็เลยตอบเขาไปว่า มันก็หวานดีทุกต้นนะ หวานดีทุกต้นแหละ


๏ คุยกันเรื่องผีปอบ

เมื่อท่านพระอาจารย์ฉันเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มกินข้าวกัน และพูดคุยกันไป คุยกันไปถึงเรื่องผีปอบในหมู่บ้าน พอท่านพระอาจารย์ได้ยินเรื่องเขาคุยกันเรื่องผีปอบ ท่านก็พูดกับเขาว่าอาตมาก็เป็นปอบเหมือนกันนะโยม

ชาวบ้านเขาก็งงและตกใจว่าพระอะไรจะเป็นปอบ เขาเลยถามท่านว่าเป็นปอบได้อย่างไร ท่านพระอาจารย์ตอบว่า ปอบมะขามหวาน ชาวบ้านก็พากันหัวเราะ ท่านว่ายิ่งหวานเท่าไรยิ่งกินดี ปอบคนอื่นเขากินคน แต่ปอบของท่านพระอาจารย์กินมะขามหวาน


๏ เรื่องของผีปอบ (จะอธิบายเรื่องของผีปอบ)

เรื่องของผีปอบนี้ ทางอีสานโดยเฉพาะบ้านนอกเขาจะรู้กัน แต่ภาคอื่นส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก และบางคนอาจจะไม่เคยได้ยิน คนที่เป็นปอบ (เจ้าของปอบ) นี้เป็นลักษณะผีเทียม เวลาไปกินคนจะบอกชื่อของคนที่เป็นปอบนั้น

ผีปอบนี้เกิดจากคนที่เรียกวิชาบางอย่างมา แล้วรักษาตามคำสั่งของอาจารย์ไม่ได้ หรือเกิดจากการสักว่านกระจายโพงแล้วรักษาไม่ได้ก็มี หรือพวกสบู่เลือด เหล่านี้เป็นต้น มักจะเป็นปอบ

คนที่จะเป็นผีปอบนี้ เริ่มแรกมักจะฝันว่าได้กินของดิบ เช่น เนื้อดิบ ลาบดิบเหล่านี้ ทีแรกก็จะกินเป็ด กินไก่ จากนั้นก็จะกินคน ส่วนมากมักจะกินคนป่วย คนธรรมดาที่ไม่ป่วยก็มีส่วนน้อย

เวลาปอบเข้ากิน ทีแรกคนที่ถูกปอบเข้าจะมึนชาทั้งตัว ต่อไปก็จะไม่รู้สึกตัวทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ และหลบหน้าเป็นไปในลักษณะนี้ ผิดสังเกต ไม่เหมือนคนคนเก่า คล้ายกับผีทรง เวลาผีปอบเข้าแล้ว เขาจะเอาหมอมาขับไล่

ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าของผีปอบเป็นใคร เขาก็เสกคาถาใส่ด้าย (ด้าย ๓ สี หรือ ๗ สี) แล้วผูกตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ แต่เวลาผูกไม่ให้คนที่ปอบเข้าเห็น รีบผูก แล้วเสกคาถาใส่หัวว่านไฟ (หัวไพร) จี้

หรือบางทีถ้าไม่ยอมบอกชื่อ หรือไม่ยอมออกจากคนไข้ เขาก็จะตีด้วยลำข่า ลำว่านไฟ (ลำไพร) ชนิดตีให้ยอม หรือบางหมอก็จะตีด้วยก้านกล้วย ตีจนยอมบอกชื่อว่าเป็นใคร มาจากไหน เคยกินใครมาบ้าง ในทำนองนี้

เวลาผีบอปบอกว่า คนนั้นกูก็กิน คนนี้กูก็กิน ตับหวานอร่อยดีทำนองนี้แหละ เมื่อเวลาจะให้ออก เขาก็จะแก้ด้ายที่ผูกออก ขับให้ออก เมื่อผีปอบออกแล้วจะไม่รู้จักว่าตัวเป็นอะไร คล้ายๆ กับผีทรง บางทียังถามว่าคนมาทำไมมากอย่างนี้

ผีปอบบ้านศรีฐาน

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าสู่ฟังเรื่องปอบเข้าบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่าน ท่านเล่าว่า มีคนคนหนึ่งเขาไปนา ไปทำงานที่นาของเขา เกิดปวดท้องหนักเลยกลับบ้าน คงจะปวดหนักมาก พ่อแม่เห็นผิดสังเกต นึกว่าผีปอบเข้าลูก กินลูก ก็เลยไปตามหมอมาขับไล่ พอหมอมาถึงก็ไม่ได้สังเกตสังกาอะไร เสกคาถาใส่ด้าย แล้วก็ผูกข้อมือ ข้อเท้า และคอ เสร็จแล้วก็หวดด้วยลำข่า หือมึงเป็นใคร มึงมาจากไหน มึงชื่ออะไรหือ มึงจะหนีหรือไม่หนี หือๆ คนที่ปวดท้องก็ร้องไห้ ว่าจะให้ผมหนีไปไหน บ้านผมอยู่นี่

แล้วยังขู่อีกว่า มึงมาจากไหน คนเจ็บก็บอกว่า มาจากนาหนองพอก หือมึงเป็นใคร ก็บอกชื่อ แล้วหมอและคนดูก็ตกใจ พากันหัวเราะกันพักใหญ่ ทั้งสงสารคนป่วย ปวดท้องก็จะตายอยู่แล้ว ยังโดนตีอีก

นี่ปอบบ้านศรีฐาน แต่ส่วนมากหมอเขาจะรู้ ส่วนหมอคนนี้อะไรก็ไม่ทราบ คงจะเรียนมาใหม่แหละดูท่า ท่านเคยเล่าให้ฟังสนุกๆ


๏ พบพระอาจารย์มั่นครั้งแรก

ครั้นเมื่อท่านพระอาจารย์ได้พักกับชาวบ้านแถวริมแม่น้ำโขงพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางต่อไปทางจังหวัดสกลนคร โดยมุ่งหน้าจะไปกราบนมัสการและฟังคำอบรมสั่งสอนจาก ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

เนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือนั้นเป็นวัดเล็ก แต่พระเณรมีมากที่ต้องการอบรมศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์จึงไม่อาจจำพรรษาที่นั้นได้ จำเป็นต้องไปจำพรรษาอยู่ที่วัดใกล้ๆ เพราะกุฏิมีจำกัด

ในระยะนั้นเข้าใจว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน คงอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เมื่อพระที่อยู่เก่าออกวิเวกและมีกุฏิว่าง ท่านจึงมีโอกาสเข้ามาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น

พอสมควรแก่เวลา แล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นออกไปวิเวก

พรรษาที่ ๕-๖

ในพรรษาที่ ๕ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านนาหัวช้าง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคม โดยมี ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นผู้นำ ปัจจุบันวัดป่าบ้านนาหัวช้างนั้นคือ วัดป่าอุดมสมพร

ในพรรษาที่ ๖ นั้น ท่านพระอาจารย์ได้จำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม ในช่วงนี้ท่านเล่าว่า การภาวนาเริ่มจะยาก คือว่าท่านผ่านทุกขเวทนาไม่ได้

พอนั่งภาวนาเป็นเวลานานพอสมควร มักจะเกิดทุกขเวทนาใหญ่คือทุกเวทนากล้ามาก ท่านได้ต่อสู้มาหลายครั้งหลายหนแต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ท่านจึงได้กราบเรียนถึงประสบการณ์นี้ถวายท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบ

พอท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบแล้ว ก็แนะนำวิธีการต่อสู้กับทุกขเวทนาให้ฟัง โดยให้ใช้สติปัญญาพิจารณาแยกธาตุขันธ์ ท่านได้นำอุบายที่ได้รับฟังมานั้นมาปฏิบัติ

ด้วยการตั้งสัจจะว่า จะสู้กับทุกขเวทนานี้แบบสละชีวิต เพื่อให้รู้เห็นความจริงของทุกข์ ถึงแม้จะปวดหนักปวดเบาขนาดไหน ก็จะไม่ยอมลุกหนีจะปล่อยให้มันออกเลย


๏ ต่อสู้กับเวทนาใหญ่

เมื่อท่านพระอาจารย์ได้อุบายจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ได้เวลาท่านก็เตรียมนั่งชนิดว่าแต่งตัวเต็มยศ คือ ห่มจีวร ใส่สังฆาฏิ แล้วนั่ง โดยตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าผ่านทุกขเวทนานี้ไม่ได้แล้ว จะไม่ยอมลุกจากที่เด็ดขาด

เวลาต่อสู้อยู่นั้น มันทุกข์มาก เจ็บปวดมาก ผิดกันกับทุกขเวทนาที่เคยผ่านมา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้ตั้งชื่อนี้เอาว่า ทุกขเวทนาใหญ่ ซึ่งไม่มีในตำรา ท่านว่ามันทุกข์จนเหงื่อหรืออะไรภาษาอีสานเขานิยมว่า ยางตาย ออกเปียกหมดทั้งตัว

ท่านว่าเวลายกมือขึ้นดู เหงื่อ (ยางตาย) จะหยดปั๊บๆ ตามนิ้วมือ ท่านว่ามันทุกข์ขนาดนั้นนะ แต่ปรากฏว่าท่านก็ผ่านไปได้ จิตสงบลงรวมผิดปกติเป็นอัศจรรย์ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการปฏิบัติมาก

และจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทุกขเวทนาใหญ่นั้นได้เกิดขึ้นอีกเลย ท่านว่าจิตมันเปลี่ยนไปคนละอย่างกับสมัยที่ยังสู้มันไม่ได้ คือ เวลานั่งไปทุกขเวทนาทำท่าจะเกิดขึ้น จิตมันไม่กลัวเหมือนแต่ก่อน ท่านว่ากลับดีใจว่าเราจะได้กำลังใจอีกแล้ว เพราะการต่อสู้แบบนี้ท่านว่าได้กำลังใจคุ้มค่า จึงเกิดความดีใจ แต่เมื่อเรารับรู้มันแล้ว มันก็ไม่เกิด จะเกิดขึ้นก็ธรรมดา ไม่ใช่เวทนาใหญ่แบบนั้น

เที่ยววิเวกไปทางสว่างแดนดิน ส่องดาว วริชภูมิ

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์ก็ออกวิเวก โดยเดินทางไปทางอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว และอำเภอวาริชภูมิ ท่านได้เคยไปพักอยู่กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งสมัยคราวนั้นท่านพักอยู่ที่หวายสนอย

ท่านเล่าว่า ตอนพักอยู่กับหลวงปู่ขาวนั้น คงจะเป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ท่านได้เล่าถึงความอดอยากเพราะฝนแล้ง ชาวบ้านอดข้าวกัน ไปบิณฑบาตไม่พอฉัน ต้องอาศัยแม่ชีและสามเณรหาหัวมันและผักเห็ดมาเสริม พอได้ทำความเพียร แต่อย่างไรก็ตามการพักอยู่กับหลวงปู่ขาวที่หวายสนอย (ภูเหล็ก) อำเภอส่องดาว นั้น ท่านว่าการภาวนาดีมาก นอนนิดเดียวก็อิ่ม จิตสงบละเอียดมาก

ทั้งหลวงปู่ขาวท่านก็ทำความเพียร คือโดยมากท่านจะไม่ค่อยเทศน์ แต่ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ปกติท่านเป็นคนที่พูดน้อย แต่ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนามาก

สมัยที่ท่านพักอยู่นั้นก็มีเรื่องที่ขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ พระเณรไปบิณฑบาต ท่านได้เห็นผักกระโดนอยู่ริมทาง ท่านจึงจำเอาไว้ว่าขากลับจะให้เณรเก็บเอา พอบิณฑบาตกลับ ก็สังเกตมาตามทาง

พอถึงพุ่มผักกระโดนก็ชี้บอกเณรว่า นี่เณรเอาเลยในพุ่มนั้น บังเอิญวันนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งเขาจะไปไร่ เห็นพระเขาก็หลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพุ่มนั้น พอได้ยินเสียงพระและพูดว่า เณรเอาเลย เขาก็ตกใจ ขยับตัว

ท่านจึงได้เห็น เลยต่างคนต่างอาย ผักกระโดนก็ไม่เอา หัวเราะกันตามทาง องค์ที่พูดนั้นไม่ใช่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง แต่เป็น ท่านพระอาจารย์สม ซึ่งท่านก็ได้มรณภาพไปแล้ว

พรรษาที่ ๗-๘

พรรษาที่ ๗ ไม่ทราบว่าท่านจำพรรษาที่ไหน ที่ถ้ำเป็ดท่านก็เคยพัก พักอยู่กับ ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม) บ้านหนองบัวบาน สมัยนั้นท่านอยู่ถ้ำเป็ด ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ที่ถ้ำเป็ดนี้ภาวนาไม่ค่อยจะดี จะเป็นเพราะอากาศหรืออย่างไรไม่ทราบ

ท่านว่าที่ถ้ำเป็ดนี้ง่วงนอนเก่ง นอนไม่รู้จักอิ่ม อาหารการฉันก็อดอยากเหมือนกัน ท่านว่ากล้วยน้ำว้าใบเดียวแบ่งกัน ๔ องค์ ต้องอาศัยปลาร้าที่เตรียมไป ให้เณรเอาออกวันละนิด แบ่งกันฉัน แต่เวลาฉันแล้วง่วงนอนเก่ง


๏ ไปรับโยมพ่อมาบวช

เมื่อพรรษาที่ ๗ ล่วงแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็กลับบ้านศรีฐาน เพื่อเยี่ยมโยมพ่อ-โยมแม่ของท่าน และได้นำโยมพ่อของท่านไปด้วย ไปบวชเป็นตาปะขาว แล้วฝากโยมพ่อของท่านไว้กับท่านพระอาจารย์อ่อน ครั้นต่อมาโยมพ่อของท่านก็ได้บวชเป็นพระ

วิเวกผ่านดงสีชมพู

สำหรับท่านพระอาจารย์ก็ได้เดินทางโดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุดธานี และหนองคาย ในระหว่างทางที่จะไปมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าน ดงสีชมพู ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดงหนามป่าทึบอยู่มาก และเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด

พวกชาวบ้านริมดง เขาพากันห้ามไม่อยากให้ท่านเดินทางไปเพราะท่านไปองค์เดียว เขาเกรงว่าจะหลงทาง ไม่สามารถจะข้ามดงไปได้ในเวลาค่ำมืด ถ้าค้างคืนในดงจะต้องตายแน่ เนื่องจากเสือ ช้าง หมี สัตว์ร้ายเหล่านี้ชุมมาก ท่านหาได้ฟังคำทักท้วงของชาวบ้านซึ่งหวังดีต่อท่านไม่ ด้วยท่านมีความเด็ดเดี่ยวอยู่ว่าตายเป็นตายจะต้องข้ามดงสีชมพูให้ได้ และให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนตะวันตกดินด้วย

ท่านจึงตัดสินใจเดินเข้าสู่ดงสีชมพูทั้งที่ไม่รู้จักทาง โดยสังเกตดวงอาทิตย์เป็นเข็มทิศในการเดินทาง ท่านได้บริกรรม พุท โธ, พุท โธ ไปตลอดระยะทางที่ท่านเดินไปในดงนั้น

ซึ่งเต็มไปด้วยรอยเท้าช้าง รอยเท้าเสือ และสัตว์ต่างๆ เต็มไปด้วยขี้ช้างและรอยสัตว์ปะปนกัน คล้ายกับสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ท่านเดินมุ่งหน้าไปและระมัดระวังจิตของท่านไม่ให้ส่งออกภายนอกเลย

กำหนดความรู้ พุท โธ ติดแนบแน่นกับจิต เดินทั้งวันตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จ ยามเมื่อหิวกระหายน้ำ ก็ได้อาศัยน้ำตามหนองซึ่งสัตว์ป่าลงกิน ทั้งขี้ทั้งเยี่ยวใส่ ฉันพอทาคอท่านว่า

เพราะการเดินทางนั้น ไม่ได้เอาน้ำไปด้วย เอาไปแต่กระบอกกรองน้ำ ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนั้น ถ้าจะเอาน้ำไปด้วยแล้ว ก็จะฉันแต่น้ำเมื่อหิว แล้วการเดินทางจะไปไม่ได้ไกล น้ำจะลงพื้น เท้าจะพองเดินไม่ได้

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านจึงไม่เอาน้ำติดตัวไปด้วย และจะได้ลดความหนักในการเดินทาง เพราะแต่บริขารที่จำเป็นก็หนักพอแล้ว ผลที่สุดท่านก็ได้เดินทางผ่านดงสีชมพูไปได้ในวันนั้นโดยปลอดภัยเมื่อเวลาพลบค่ำ สังเกตได้จากการเห็นหมู่บ้านซึ่งปลูกอาศัยอยู่ตามริมดง ก็ทราบว่าถึงที่จุดหมายปลายทางแล้ว

แล้วท่านก็พักวิเวกอยู่ในเขตอำเภอผือนั้น ตามถ้ำม่วง ถ้ำจันฑคาด ถ้ำหีบแถวนั้นพอสมควรแล้ว ก็เดินทางต่อไปทางอำเภอท่าบ่อ และบ้านศรีเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่

ท่านได้จำพรรษาที่วัดพระดอย บ้านศรีเชียงใหม่ (ชื่อทุกวันนี้ไม่ทราบ) ในพรรษานั้นท่านป่วยเป็นไข้ เป็นไข้หนัก และพระเณรก็เป็นไข้กันหลายองค์ แต่ท่านพระอาจารย์เล่าว่า มักจะได้กำลังใจเมื่อเวลาป่วยไข้

เพราะสมัยแต่ก่อนไม่ค่อยมีหมอ มีหมอก็หมอชาวบ้าน อาศํยยาต้มและยาฝน ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยจะหายง่าย และมีเณรองค์หนึ่งซึ่งจำพรรษาด้วยกัน เณรองค์นั้นก็ป่วยและหายก่อน

เวลาพอเดินได้เณรนั้นก็เดินไปถามท่านพระอาจารย์ว่า ครูบาเป็นอย่างไร ยังไข้อยู่หรือ ท่านตอบเณรว่า ยังไข้อยู่ แล้วท่านพระอาจารย์ถามเณรว่า เณรล่ะ หายหรือยัง เณรนั้นตอบว่า หายพอเดินได้ เณรเลยพูดต่อไปว่า โอ่ย ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ให้ผมเป็นอีกซักทีก็ได้ครูบา ท่านพระอาจารย์ก็หัวเราะ เณรนั้นออกจะไม่ค่อยเต็มบาทเท่าไร

ตอนที่ไปเที่ยววิเวกด้วยกันก็มีเรื่องขบขันหลายอย่าง ที่พักจำพรรษาอยู่ด้วยกันในปีนั้นก็มี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์สม และท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร มีหลายองค์ด้วยกัน (ปัจจุบันทุกองค์ได้มรณภาพไปหมดแล้ว)

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อของท่านถึงแก่กรรมที่หมู่บ้านกุดสิม อำเภอบัวขาว (อำเภอกุฉินารายณ์) จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ อันเป็นพรรษาที่ ๘ ล่วงแล้ว

ท่านจึงเดินทางกลับบ้านศรีฐานเพื่อทำบุญให้กับหลวงพ่อของท่าน แล้วพักอยู่บ้านนานพอสมควร จึงได้เดินทางออกวิเวกต่อไปทางจังหวัดนครพนม เขตอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี

๏ พรรษาที่ ๙-๑๑
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม)

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๗ เป็นพรรษาที่ ๙ ถึงพรรษาที่ ๑๑ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมุกดาหาร โดยมี ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้นำ

ในยุคสมัยนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านพระอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า

ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านจะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่านอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมาก เสียงหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ

ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละ และถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น

ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัดให้ไปอยู่วัดอื่น โดยพูดว่า “ผมสอนท่านไม่ได้แล้วนิมนต์ออกไปจากวัดเสีย”

ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทรายภายใต้การนำของท่านพระอาจารย์มหาบัว จึงมีความพากเพียรในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างหลักกัน (ภาษากลางไม่ทราบ) คือ บางองค์เวลาหมู่เดินจงกรมจะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนว่านอน แต่ความจริงนั่งภาวนา

เวลาหมู่ขึ้นจากทางเดินจงกรมหมดแล้วจึงค่อยลงเดินก็มี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่า พระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟ (แสงโคมไฟ) สว่างไสวตามกุฏิของพระเณร เหมือนกับไม่นอนกัน

สำหรับท่านพระอาจารย์ ท่านก็เร่งความเพียรเต็มที่จนทางเดินจงกรมลึกเป็นร่อง พระเณรได้ถมทางเดินจงกรมให้บ่อย ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ ระยะนั้นเป็นหน้าหนาว อากาศหนาวมาก ท่านก็ห่มผ้า ๓-๔ ผืนเดินจงกรม พอเดินไปๆ ดึกเข้ามาท่านก็ง่วงนอนมาก เพราะคราวนั้นท่านอดนอนได้ ๓ คืนแล้ว เดินไปผ้าห่มผืนที่อยู่นอกหลุดออกตกลง ท่านก็ไม่ทราบ พอเดินไปถึงหัวทางเดินจงกรม หันกลับมาเห็นผ้าห่มตัวเองก็ตกใจ ท่านนึกว่าเสือหรืออะไรหนอ

เพราะสมัยนั้นยังมี เดือนก็ไม่สว่างเท่าไร ท่านจึงกระทืบเท้าดู มันก็นิ่ง เอ๊ะมันอะไรนา เลยค่อยๆ ขยับเท้าเข้าไปก้มดูใกล้ๆ แล้วเอาเท้าเขี่ยดู ที่ไหนได้ เป็นผ้าห่ม ท่านก็หัวเราะคนเดียวพักใหญ่ เลยหายง่วง

การเป็นอยู่ของพระเณรสมัยนั้นอยู่กันอย่างประหยัด บิณฑบาตแบบธุดงควัตร คือ ชาวบ้านเขาจะหมกห่ออาหารใส่บาตรพร้อมกับข้าวเหนียว ไม่ได้นำอาหารตามมาส่งที่วัด

แต่ว่าศรัทธาของชาวบ้านแถวนั้นเขาดีมากทั้งๆ ที่ยากจน อดอยาก โดยเฉพาะแล้วเรื่องอาหาร เขามีกบหรือเขียดตัวเดียว อย่างนี้เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์ ทั้งนี้ เนื่องจากทางภาคอีสานกันดารน้ำโดยเฉพาะหน้าแล้ง บางแห่งต้องไปกินน้ำในสระ พร้อมทั้งตักไปเอาไกลด้วยเป็นระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็มกินไม่ได้ และทำให้สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือความอดอยากเรื่องอาหารการกิน

ภาคอื่นบางคนมักจะว่าคนอีสานนี้กินไม่เลือก ก็เพราะเหตุว่าความที่มันหาไม่ได้นั้นเอง มีอะไรเขาก็จับกินไป พวกน้ำร้อน น้ำชา โกโก้ กาแฟ และน้ำตาล อย่างนี้ ไม่ต้องถามหา แม้แต่ภาพยังไม่เคยเห็นเลย

อาศัยเอาแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นานๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง แต่ก้อนน้ำอ้อยสมัยนั้นอร่อยมาก ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓-๔ องค์ก็ยังพอและอร่อยด้วย ไม่เหมือนน้ำอ้อยสมัยทุกวันนี้

บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแต่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มี เป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลานวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน

บางครั้งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ป่วยหนัก จนชาวบ้านได้พากันออกมานอนเฝ้ารักษา แต่ท่านพระอาจารย์เคยเล่าว่า ได้กำลังใจดีในเวลาป่วย เพราะไม่มีที่พึ่ง จะพึ่งกายก็ไม่สบายป่วยไข้ ได้มีโอกาสพิจารณามาก

เมื่อพิจารณากันอยู่ไม่หยุดไม่ถอย มันก็รู้ก็เข้าใจในเรื่องของกายและจิต ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านได้กำลังใจเพราะการป่วยไข้นี้มีมากๆ เลย และกำลังใจท่านก็เข้มแข็ง ไม่เหมือนพระนักปฏิบัติทุกวันนี้

เอะอะก็หมอ เอะอะก็หมอ นิโรธของนักปฏิบัติก็เลยอยู่กับหมอ ไม่ได้อยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า กำลังใจก็อ่อนแอเอามากๆ เลย เห็นแล้วบางทีก็หนหวย (รำคาญ)

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๗ นี้ พอตกหน้าแล้งบางปีท่านจะออกไปเที่ยววิเวกตามที่ต่างๆ เช่น ภูผากูด ภูเก้า ภูจ้อก้อ แถวนั้น ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองสูง

ปัจจุบันบ้านหนองสูงเป็นกิ่งอำเภอ และชื่อจริงของวัดก็ไม่ทราบ พักอยู่กับ ท่านพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก มีชาวบ้านหนองแต้ ถ้าจำไม่ผิด เขาไปนิมนต์ให้ท่านไปดูที่ให้เขา (ไปเหยียบที่ให้เขา) เพราะที่หัวนาของเขานั้นแรงมาก (เข็ดมาก) จะไปตัดไม้ตัดฟืนในบริเวณนั้นไม่ได้ จะต้องมีอันเป็นไปให้เห็น จนเป็นที่รู้จักกันว่าที่นั้นมันแรง เขามานิมนต์ท่าน ท่านก็ไป แต่นี่ไม่ทราบว่าท่านไปด้วยกัน ๒ องค์ หรือองค์เดียว จำไม่ได้

พอไปถึงแล้ว เขาก็พาท่านเข้าไปในที่แห่งนั้น ที่นั้นจะทำเป็นหอเล็กๆ ไว้ เมื่อท่านพระอาจารย์ไปถึงแล้ว ท่านก็ว่า ไหนผี มันอยู่ตรงไหน แล้วท่านก็ขี้ใส่นั้น ไม่ทราบว่าท่านปวดขี้มาแต่เมื่อไร เสร็จแล้วออกมา ท่านว่า ทำไปเลย มันไม่มีผีดอกน่า ไม่เห็นอะไรนี่ แล้วท่านก็กลับวัด พอกลับมาถึงวัด ถึงเวลาปัดกวาด ทำข้อวัตรก็ทำ สรงน้ำสรงท่า เดินจงกรม พอค่ำดึกพอสมควรก็ขึ้นกุฏิ ไหว้พระสวดมนต์และนั่งภาวนา แล้วก็พักผ่อนหลับนอน


๏ ฝันเห็นผี

เมื่อท่านนอนหลับเคลิ้มไป แล้วฝันว่า เห็นมีคน ๒ คน เดินคุยกันมา เดินผ่านสนามบินนายเตียง สิริขันธ์ มา รูปร่างใหญ่สูงมาก ดำ ท่านว่ามองเห็นแต่ไกล เพราะสูงกว่าป่าไม้แถวนั้น สูงประมาณ ๑๐ เมตร แล้วเดินเข้าไปในวัด พูดกันว่าไหน มันอยู่ไหน แล้วก็ตรงไปยังกุฏิของท่านพระอาจารย์ กุฏิของท่านเพียงเข่าของคน ๒ คนเท่านั้น ระยะนั้นท่านพระอาจารย์ก็ว่า ท่านปรากฏว่าตัวเองนอนอยู่ และร่างของท่านก็ปรากฏว่าใหญ่ยาวออกเหมือนกัน

ในความรู้สึกของท่านนั้นว่าจะไม่หนี จะสู้ แล้วคนหนึ่งก็ก้มลงส่องดูท่านพระอาจารย์ แล้วพูดว่า “อ้าวหลานของเรา อย่าทำท่าน” แล้วก็พากันกลับ


๏ พรรษาที่ ๑๒

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อันเป็นพรรษาที่ ๑๒ ของท่าน ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์มหาบัวไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อเยี่ยมโยมมารดาของท่านพระอาจารย์มหาบัว และท่านพระอาจารย์มหาบัวได้พาโยมมารดาของท่านไปพักจำพรรษาที่ใกล้สถานีทดลองเกษตรกรรมน้ำตกพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาถวายใหม่ ท่านเล่าให้ฟังว่า ญาติโยมแถวนั้นภาวนาเก่งกันหลายคน ท่านอยู่ภาคตะวันออกได้ปีเดียว เนื่องด้วยโยมมารดาของท่านพระอาจารย์มหาบัวไม่ค่อยสบาย อยากกลับบ้าน

ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงได้พาโยมมารดาของท่านกลับจังหวัดอุดรธานี จึงได้ส่งปัจจัยค่าเดินทางไปให้ท่าน และหมู่ที่ยังเหลืออยู่จึงได้เดินทางกลับอุดรธานี โดยนั่งเรือโดยสารมาลงที่กรุงเทพฯ และเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านตาด ซึ่งสมัยนั้นเพิ่งจะเริ่มตั้งวัดในปี พ.ศ. ๒๔๙๙


๏ สติปัญญากล้า

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คราวที่สติปัญญามันกล้า มันกล้าจริงๆ พิจารณาอะไร เรื่องที่ใจติดข้องหรือสงสัย มันเหมือนกันกับว่าทิ้งเศษกระดาษใส่ไฟกองใหญ่ๆ มันแว้บเดียว แว้บเดียวเท่านั้น มันหายสงสัย มันขาดไป ตกไป ใจจึงเพลินในการพิจารณาและค้นหาเรื่องที่ใจยังคิดยังสงสัย เมื่อเจอแล้วพิจารณาเข้าไป มันขาดไปๆ ตกไปๆ จึงทำให้เพลินในการพิจารณา ต่อไปจิตของท่านก็ไหลเป็นน้ำซับน้ำซึมคือไม่มีเผลอเลย เว้นเสียแต่หลับ

ก่อนจะหลับพิจารณาอะไร เมื่อตื่นขึ้นก็จับพิจารณาต่อไปได้เลย ครั้นต่อมา จิตของท่านก็ตกว่าง จิตว่างนี้ ท่านว่ายังไม่ใช่นิพพานดอกนา บางคนอาจจะเข้าใจว่า จิตว่างนี้คือนิพพาน ท่านว่ายังไม่ใช่ เวลาผ่านไปแล้วค่อยรู้ ท่านว่าต้องย้อนจิตเข้ามารู้ตัวผู้ที่รู้ว่าว่างนั้นอีก

แต่จิตของท่านพระอาจารย์นี้ไม่มีขณะ เหมือนครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ เป็นชนิดที่เหี่ยวแห้งไปเลย (จิตชนิดนี้ในตำราก็คงมีบอก) จากนั้นไปท่านว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน คือมันไม่ติดกับอะไร เหมือนกับทิ้งเมล็ดงาใส่ปลายเข็มท่านว่า มันไม่ติด ซึ่งแต่ก่อนที่ยังมีกิเลสอยู่มันก็รู้ เมื่อมันหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ที่จะละ จะบำเพ็ญ จะไม่ให้รู้ได้อย่างไร ท่านว่ามันรู้แต่สมมุติทั่วไปของโลก ที่ใช้กัน ก็ใช้ไปธรรมดา

บางคนอาจจะเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ว่าท่านหมดกิเลสแล้ว ทำไมจึงดุ และดุเก่งด้วย ท่านว่าอันนั้นมันเป็นพลังของธรรม มันไม่ใช่กิเลส เราเคยเป็นมาเรารู้ ท่านว่า พวกเรานี้จิตยังไม่เป็นธรรม มันมีแต่พลังของกิเลส

เมื่อเห็นท่านแสดงอาการอย่างนั้น ก็เข้าใจว่าจะเหมือนกันกับเรา ท่านว่าถ้าอยากรู้ให้ปฏิบัติ เมื่อจิตถึงที่สุด หมดความสงสัยในตัวแล้วจะรู้เอง

พรรษาที่ ๑๓-๑๖

พรรษาที่ ๑๓-๑๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ครั้นเมื่ออกพรรษาแล้ว ญาติทางบ้านศรีฐานได้เขียนจดหมายมาบอกว่า สามเณรน้อย สามเณรอุ่น จะต้องคัดเลือกทหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๑

เมื่อเสร็จธุระคือรับกฐิน ทำธุระเกี่ยวกับการตัดเย็บจีวรเสร็จแล้ว ท่านก็ได้พาสามเณรน้อย สามเณรอุ่น ไปบ้านเพราะเณรสององค์นี้เป็นลูกน้องสาวของโยมแม่ของท่าน ท่านจึงต้องได้เป็นภาระพาไป

พอดีเมื่อไปถึงแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ใช่ปีนั้น จะเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วท่านจึงได้พาสามเณรสององค์นั้นไปเที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอมุกดาหาร (จังหวัดมุกดาหาร) แถวภูวัด บ้านดงมัน และภูเก้าที่อยู่ใกล้เคียงกับภูจ้อก้อ

ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ก็อยู่ภูจ้อก้อ ท่านไปเยี่ยมท่านพระอาจารย์สิงห์ทองที่ภูเก้า จากนั้นคณะท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ได้เดินทางต่อไปยังบ้านห้วยทราย ซึ่งระยะนั้น ท่านพระอาจารย์ศรี มหาวีโร ท่านได้พาพระเณร ศิษย์ของท่านพักอยู่ก่อนแล้ว

พักอยู่ที่บ้านห้วยทราย

ก่อนหน้าที่ท่านจะไปถึง มีชาวบ้านห้วยทรายคนหนึ่งชื่อว่า พ่อปัน เขาจะซื้อที่ เขาจึงมากราบเรียนท่านพระอาจารย์ศรีว่าจะสมควรซื้อไหม เพราะที่แห่งนั้นมันแรงมาก (เข็ดมาก) มีน้ำไหลซึมอยู่ตลอด ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน

ท่านพระอาจารย์ศรีเลยบอกว่า ถ้าเขาจะขายก็ซื้อเอาไว้เสีย แล้วอาตมาจะไปพักให้ดอก เพราะที่มันแรง ยิ่งกว่านี้ก็เคยได้ไปพักให้เขาอยู่แล้ว พ่อปันก็เลยซื้อเอาที่แห่งนั้นแล้วก็ทำตะแคร่ร้านไว้ ๗ แห่ง เพราะพระเณรที่ไปกับท่านพระอาจารย์ศรีมีหลายองค์ เมื่อเขาทำเสร็จแล้วก็มานิมนต์ท่านให้ไปพักให้ ก็พอดีท่านพระอาจารย์สิงห์ทองไปถึง ท่านพระอาจารย์ศรีก็เลยพูดว่า เอา ครูบา ไปพักให้เขาหน่อย เพราะท่านพระอาจารย์ศรีอ่อนกว่า จึงเรียกครูบา ท่านพระอาจารย์ว่า ก็ใครบอกให้เขาทำก็ไปซี แล้วเถียงกันไปเกี่ยงกันมา ท่านพระอาจารย์ศรีว่า หมู่ผมฝากให้ครูบานั้นแหละไป ผลที่สุดท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นผู้แพ้ เลยได้ไปพักในที่แห่งนั้น

ณ ที่แห่งนั้นอยู่ใกล้กับสำนักของ คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เวลาออกไปจากบ้านห้วยทรายจะมองเห็น ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้ไปกับสามเณรน้อย ส่วนข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) ท่านไม่ให้ไปด้วย ให้ดูแลรักษาบริขารที่ไม่ได้เอาไปด้วย เมื่อท่านไปถึงวันแรก พอจะค่ำท่านก็สรงน้ำ แล้วก็ลงเดินจงกรม พอเหนื่อยและดึกหน่อยท่านก็ขึ้นแคร่ขึ้นร้าน ไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็จะนั่งภาวนา ก่อนจะนั่งภาวนาท่านได้นึกในใจว่า ถ้าหากมีเจ้าที่เจ้าฐานอยู่นี้ ก็ขอให้ขยับขยายไปที่อื่นเสีย

เพราะที่นี้ชาวบ้านเขาจะทำ อยากทำกิน ทำทาน หรือว่าถ้าไม่ไปแล้ว ก็อย่าเบียดเบียนเขา ท่านนึกอย่างนั้นแล้วก็นั่งภาวนา มีแปลกผิดสังเกตอยู่ว่า น้ำที่เคยไหลซึมอยู่นั้นปรากฏว่าย่นเข้ามาทุกวัน คือ แห้งเข้ามาๆ จนวันที่ ๗ ยังเหลืออยู่แต่ปากบ่อเท่านั้น พอท่านพักอยู่ได้ครบ ๗ วัน แล้วท่านก็กลับวัด

พญานาคอพยพหนีไปถ้ำม่วง

ต่อมา คุณแม่ชีเจียง ซึ่งอยู่สำนักชีใกล้ที่แห่งนั้น แม่ชีองค์นี้เป็นน้องสาวของโยมพ่อ ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก วัดป่าบ้านนาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี (ในปัจจุบัน) เขาไปจังหันที่วัด แล้วถามท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า ได้ปรากฏอะไรบ้าง

ท่านพระอาจารย์ตอบว่า มันจะมีอะไร คุณแม่ชีเจียงเลยพูดว่า เขาไปลาข้าน้อย ถามเขาว่าจะไปไหน เขาบอกว่าจะไปอยู่ถ้ำม่วง ทำไมจึงจะไป ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองบอก ท่านบอกว่าอย่างไร เขาก็พูดให้ฟัง

คำพูดนั้นเป็นคำพูดคำเดียวกับที่ท่านพระอาจารย์นึก และคุณแม่ชีเจียงยังบอกให้แสดงรอยไว้ให้ดูด้วย เวลาเช้าแม่ออกไปจังหัน ได้พาแม่ออกไปดูเป็นรอยคล้ายๆ กับรอยรถยนต์ คุณแม่ชีเจียงพูด

ต่อมาคุณแม่ชีเจียงก็พูดอีกว่า มีเจ้าที่อยู่ภูหินขันธ์ บ้านดงมัน อำเภอมุกดาหาร (จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) มาลาว่า ผมจะไปเกิด ผมไปลาท่านพระอาจารย์สิงห์ทองมา คุณแม่ชีเจียงถามว่า รู้จักท่านด้วยหรือ เขาบอกว่ารู้

เขาได้เคยไปปฏิบัติท่านอยู่ที่ภูวัด บ้านดงมัน เพราะเขาสองลูกนี้อยู่ใกล้กันอยู่คนละฝั่งทาง ผมอยู่ภูปิ่นขันธ์นี้มาได้ ๒ หมื่นปีแล้ว ผมจะไปเกิด แต่ไม่ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหนและเกิดเป็นอะไร

ความรู้ของท่านพระอาจารย์ที่เกี่ยวกับด้านนี้ ตามที่เคยอยู่กับท่านมา เข้าใจเอาเองว่าความรู้ของท่านในด้านนี้ไม่มี บางคนอาจเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นแล้วจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างไปนั้นไม่ใช่ จะเป็นได้เฉพาะบางรายเท่านั้น ไม่ทั่วไป แต่ว่า อาสวักขยญาณ คือรู้ว่ากิเลสหมดไปนี้เหมือนกันหมด ส่วนความรู้ปลีกย่อยนี้ไม่เหมือนกัน ผู้ที่ได้ศึกษาตำราทางศาสนามากจะเข้าใจ แต่ผู้ที่ศึกษาน้อยอาจจะยังสงสัย จึงได้เขียนไว้ในที่นี้ด้วย

พญานาคที่ว่านั้น เดี๋ยวนี้กลับมาที่เดิมแล้ว และมีน้ำไหลซึมออกมาอีกเหมือนเดิม

จากนั้นท่านก็ได้เที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม กลับมาอำเภอนาแก พักอยู่ที่ถ้ำตาฮด ปัจจุบันชื่อถ้ำโพธิ์ทอง บ้านแจ้งมะหับ พักอยู่นั้นได้ประมาณ ๑ เดือน มีเรื่องที่ขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง

คือเมื่อท่านพักอยู่นั้น ชาวบ้านยังไม่รู้จักท่านเพราะไม่เคยอยู่มาก่อน เขาพากันถามถึงชื่อของท่าน ท่านก็บอกชื่อท่านว่า ญาพ่อผักกะโดน คือปกติท่านพระอาจารย์ท่านจะชอบฉันผักเป็นพิเศษ และหน้านั้นผักกะโดนกำลังออกดอก ท่านก็เลยบอกชื่อของท่านแบบนั้น ชาวบ้านพากันหัวเราะ พอพักที่นั้นพอสมควรแล้ว ก็เดินทางกลับบ้านห้วยทราย และจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายในปี พ.ศ. ๒๕๐๑

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็กลับบ้านศรีฐานอีกประมาณเดือนธันวาคม พาสามเณรน้อย สามเณรอุ่น ไปรับใบหมายเรียกจะเข้าเกณฑ์ทหาร แต่เนื่องจากสามเณร ๒ องค์นี้สอบนักธรรมได้ คือทางการเขาอนุญาตให้ยกเว้นได้ ท่านจึงขอให้เขายกเว้นให้ เมื่อเสร็จธุระแล้วท่านก็ออกจากบ้านศรีฐานไปทางอำเภอมุกดาหาร (จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) ไปพักอยู่ที่ภูวัดเพราะว่าภูวัดนี้อากาศดี ท่านพระอาจารย์ชอบสถานที่แห่งนี้

มีเวลาผ่านไปทางนั้น ท่านจึงมักจะไปพักอยู่บ่อย เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้วก็เดินทางต่อไปยังภูเก้า บ้านโคกกลาง สมัยก่อนขึ้นกับอำเภอคำชะอี แต่ทุกวันนี้คงขึ้นกับอำเภอนิคมคำสร้อย

ครั้นพักอยู่ที่ภูเก้าพอสมควรแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปยังบ้านห้วยทราย และได้ทำการบวชพระให้แก่สามเณรน้อย สามเณรอุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านก็ได้จำพรรษาที่บ้านห้วยทรายอีก ๒ พรรษา

พรรษาที่ ๑๗-๑๙

เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้เดินทางกลับมาทางจังหวัดอุดรธานี เข้าไปยังสำนักวัดป่าบ้านตาด และในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้นก็ได้พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปยังวัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ ของ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

ครั้นเมื่อพักพอสมควรแล้ว ท่านพระอาจารย์ก็เดินทางต่อไปยังวัดถ้ำกลองเพล ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ขณะนั้นท่านพระอาจารย์จวนท่านก็พักอยู่ที่นั่น แล้วท่านก็เลยชวนกันไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไปด้วยกันก็มี ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย, หลวงพ่อไท และสามเณรอีก ๑ องค์ชื่อ สามเณรคำสี ทีแรกท่านก็ได้นั่งรถ ต่อเมื่อหมดค่ารถแล้วก็เดิน ท่านพูดว่าการเดินทางคราวนี้ลำบากมากเพราะขึ้นๆ ลงๆ ตามเขาระหว่างเมืองเลยต่อนครไท เหน็ดเหนื่อยมากไม่เหมือนเดินตามที่ราบ และเดินทางจนถึงจังหวัดเชียงใหม่โดยนั่งรถบ้าง เดินบ้าง

เมื่อไปถึงเชียงใหม่แล้วก็ได้ไปดูหลายแห่งและพักอยู่นานพอสมควร ท่านว่าทางเชียงใหม่นี้ไม่เป็นที่สบายของท่าน ท่านก็ได้เดินทางกลับอีสานอีกโดยนั่งรถไฟ ตอนที่นั่งรถไฟกลับท่านก็เล่าเรื่องขบขันให้ฟังว่า

มีพระองค์หนึ่งมาคุยด้วย คุยไปหลายเรื่องหลายราว พระองค์นั้นพูดว่าท่านได้ภาษาทุกภาษา ท่านพระอาจารย์คงจะรำคาญหรือท่านคิดจะหยอกเล่นก็ไม่ทราบ ก็พูดภาษาอันหนึ่งขึ้นมา สำเนียงเหมือนสำเนียงภาษาญวน

แต่คำพูดนั้นองค์ท่านพระอาจารย์เองก็ไม่รู้จัก เป็นภาษาป่า พอตกประโยค ท่านพระอาจารย์จวนก็ขึ้นรับเลย สำเนียงคล้ายๆ กัน โดยที่ไม่ได้นัดกันเอาไว้ เมื่อพูดแล้วก็หน้าตาเฉย พระองค์นั้นมองหน้าเพราะท่านติดภาษาป่า ท่านว่าจ้างมันก็ไม่รู้ดอก แม้แต่เราคนพูดเองยังไม่รู้ ท่านว่า

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๕ นี้ ท่านจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายอีก เมื่อออกพรรษาได้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาอุดรธานีอีก เข้าไปที่วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) ของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ครั้นพักอยู่ที่วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) ได้นานพอสมควรแล้ว ก็ได้กราบลาหลวงปู่บัว พาข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) ไปเที่ยววิเวกทางถ้ำจันทร์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ในระยะนั้นพวกทหารป่า ผกค. กำลังเริ่มระบาด พวกทหารคอยสอดส่องดูแลอยู่ทุกแห่ง ที่ถ้ำจันทร์นั้นแต่ก่อนยังเป็นดงหนาป่าทึบ

เมื่อท่านพระอาจารย์จวนไปพักอยู่ที่นั้น ก็ได้มีชาวบ้านพากันอพยพเข้าไปปลูกบ้าน บุกเบิกป่า ในระยะนั้นก็มีอยู่ประมาณ ๓๐-๔๐ ครอบครัว

วันหนึ่ง พอทำข้อวัตรปัดกวาดเสร็จ ก็สรงน้ำอาบน้ำกัน เสร็จแล้วก็รวมกันฉันน้ำร้อน และพูดคุยกันไปหน่อย ข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) จึงออกไปเก็บผ้าอาบน้ำที่ตากปูไว้กับลานหิน มองเห็นเครื่องบินปีกตัดบินข้ามมาจากฝั่งลาว มองเห็นเครื่องบินลำนั้นเอียงปีก และบินผ่านเข้ามายังถ้ำจันทร์ ข้าพเจ้าก็เลยกวักมือใส่ เครื่องบินลำนั้นคงจะเป็นเครื่องบินลาดตระเวน พอเครื่องบินลำนั้นเห็นก็เลยบินวนบินเวียนอยู่นั้น

เขาคงผิดสังเกต คงจะเข้าใจว่าเป็นทัพของพวก ผกค. จึงได้บินอย่างนั้น บินเวียนอยู่จนมืด ได้ประมาณทุ่มเศษๆ แล้วค่อยหนี ท่านพระอาจารย์จวนก็ได้ไฟฉาย ๒ กระบอกส่องขึ้นใส่เครื่องบินแล้วเต้นล้อ

เครื่องบินยิ่งวนเวียนกันใหญ่ ไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คิดดูธรรมดาแล้วมันก็บ้าทั้ง ๒ ทางนะ ทั้งทางอากาศและทางดิน พวกเราก็ไม่กลัว เพราะพวกเราไม่มีอะไรนี่ ดีเขาไม่ยิงปืนลงมาใส่ ถ้าเขายิงปืนลงมาก็จะกลัวอยู่แหละ เพราะลูกปืนมันใช่ญาติพี่น้องของใคร

เมื่อพักอยู่ที่ถ้ำจันทร์นานพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้พากันมาทางอำเภอสว่างแดนดิน พร้อมทั้งท่านพระอาจารย์จวนและพระติดตามท่านพระอาจารย์จวน พอดีเป็นงานสรงน้ำทำบุญครบรอบ ท่านพระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ วัดบ้านดงเย็น (วัดประสิทธิธรรม) ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

เมื่อเสร็จงานท่านแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปวัดดอยธรรมเจดีย์ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ไปในงานเผาศพของ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เสร็จงานแล้วท่านพระอาจารย์จวนและพระติดตามก็ได้เดินทางไปวิเวกแถวอำเภอนาแก ถ้ำตาฮด (ถ้ำโพธิ์ทอง)

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองท่านก็กลับบ้านศรีฐานอีก เพื่อเยี่ยมโยมแม่ของท่าน และได้เอาโยมแม่ของท่านบวชพร้อมกับน้องสาวของโยมแม่ของท่าน ซึ่งเป็นโยมแม่ของข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม)

ตอนที่เอาพวกโยมแม่บวชนี้ ไปดึงเอามาเลยนะ กระทั่งพ่อของพวกโยมแม่ พวกโยมแม่ก็ไม่ได้ลา เพราะผู้เฒ่าไปทุ่งนายังไม่กลับ ครั้นต่อมา ๒-๓ วัน ผู้เฒ่ามาตักบาตร ไม่เห็นลูกสาวมาตักบาตรด้วย ก็เลยถามหมู่ที่ตักบาตรอยู่ด้วยกันว่า เขาอี่อบ อี่บุบผา ไปไหน ไม่เห็นมาตักบาตร ๒-๓ วันแล้ว

พวกหมู่ที่รู้จักก็หัวเราะแล้วบอกว่า ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเอาไปบวชแล้ว และไปแล้ว ไปทางสกลนคร อุดรธานี โน้นแหละ ผู้เฒ่าก็เลยออกอุทานว่า โอ๋ย มันจะบวช มันก็ไม่บอกกูซักคำน้อ คิดแล้วก็น่าสงสารผู้เฒ่า มัวแต่ไปทุ่งนา หลานขโมยเอาลูกสาวหนีจ้อย

ในระยะนั้น อายุของโยมแม่ของท่านพระอาจารย์ได้ประมาณ ๖๖-๖๗ ปี แล้วท่านพระอาจารย์ก็ได้พาโยมแม่ของท่านเดินทางไปอุดรฯ เข้าไปสู่วัดป่าบ้านตาด อยู่วัดป่าบ้านตาดกับท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ประมาณ ๒ เดือน

คือที่วัดป่าบ้านตาดนี้ ท่านพระอาจารย์ไม่ถูกกับอากาศที่ท่านได้เคยอยู่มา ๓ ปี ปีแรกก็ไม่ค่อยเท่าไร พอปีที่ ๒ ที่ ๓ นี้แพ้มาก คือ คันตามตัว ตามผิวหนังอ่อนๆ แล้วเป็นตุ่มขึ้นพองคล้ายๆ กับไฟไหม้ เสร็จแล้วก็เปื่อย

ขอโทษ เวลาท่านไปบิณฑบาต ต้องได้เอาผ้ามัดเอาไว้ เพราะกลัวน้ำเหลืองติดผ้า มันเป็นที่ลูกอัณฑะด้วย จนจะเดินไม่ได้บางที ในช่วงนั้น คุณหมออวย เกตุสิงห์ ก็ได้เข้าไปวัดป่าบ้านตาดแล้ว

คุณหมออวยท่านสงสัยน้ำ เอาน้ำไปตรวจ ไปวิจัยก็ไม่พบอะไร ท่านพระอาจารย์เคยพูดว่า อุตุสัปปายะ อากาศไม่เป็นที่สบายมันเป็นอย่างนี้ ท่านเคยเล่าว่า ถ้าหากว่าอากาศไม่ผิดกับท่านอย่างนี้ ท่านจะอยู่กับท่านพระอาจารย์มหาบัวไปตลอด เพราะการอยู่กับครูบาอาจารย์ ภาระธุระมันน้อยไม่เหมือนอยู่เฉพาะเรา เพราะภาระส่วนมากก็เป็นของครูบาอาจารย์ เรามีเพียงแต่คอยรับใช้ท่าน มันสะดวกสบายดี ท่านเคยพูด

เมื่อท่านไปอีก (พาโยมแม่ไป) ก็แสดงอาการขึ้นอีกโรคที่ว่า แต่เมื่อออกไปจากวัดป่าบ้านตาดแล้วก็หาย โดยที่ไม่ต้องฉันหยูกฉันยาอะไร แต่อยู่วัดป่าบ้านตาดนั้น ทั้งฉันยา ทั้งทายา มันก็ไม่หาย

เมื่อเริ่มมีอาการเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว ท่านก็กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัว ว่าจะต้องได้พาโยมแม่ของท่านออกไปอยู่ที่อื่น แล้วท่านก็ปรึกษากันว่าจะพาไปอยู่ที่ไหน ก็เลยตกลงจะไปอยู่กับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) บ้านหนองแซง จังหวัดอุดรธานี

ผีเปรตบ้านกุดเรือคำ

ขอย้อนกลับมาพูดเรื่องผีเปรตอีกครั้ง ในปีหนึ่งท่านพระอาจารย์ได้ออกเที่ยววิเวกในหน้าแล้ง เมื่อท่านวิเวกไปถึง วัดกุดเรือคำ บ้านกุดเรือคำ ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ก็เป็นเวลาจวนจะมืด ท่านได้เข้าไปในวัดกุดเรือคำ พระเณรก็ต้อนรับจัดสถานที่ให้พัก ท่านเล่าว่ากุฏิว่างก็มีอยู่หลายหลัง แต่จัดให้ท่านและท่านพระอาจารย์เพียรพักที่ศาลาปฏิบัติธรรม สังเกตดูพระเณรรวมกันอยู่กุฏิละหลายองค์ทั้งๆ ที่กุฏิว่างยังมี

เมื่อท่านสรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ครองผ้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส ซึ่งมีนามว่า พระอุปัชฌาย์เถื่อน หรือ พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) โดยให้ ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย อยู่เฝ้าบริขาร ครั้นกราบท่านเจ้าอาวาสแล้วก็พูดคุยกันต่อจนเป็นเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านจึงกลับมาที่พักแล้วก็ทำวัตร ไหว้พระ สวดมนต์ ยังทำวัตรไม่ทันถึงไหน ท่านได้ยินเสียงดังข้างนอกก็อกแก๊กๆ นึกว่าหมามันจะมาคาบรองเท้าหนีเพราะเป็นรองเท้าหนัง ท่านจึงหยุดออกไปเก็บรองเท้าเข้ามาไว้ข้างใน แล้วไหว้พระต่อ

เสียงนั้นก็ยังดังอยู่ ดังเข้ามาในห้องทีนี้ เมื่อไหว้พระเสร็จท่านก็ส่องไฟฉายไปดู เห็นท่านพระอาจารย์เพียรนั่งภาวนาอยู่ จึงถามท่านพระอาจารย์เพียรว่า เสียงอะไร ท่านพระอาจารย์เพียรตอบว่า มันดังอยู่นานแล้ว

บางทีก็เข้าใจว่าตู้พระไตรปิฎกล้ม ท่านพระอาจารย์เพียรพูด...ถ้าดับไฟเสียงจะดังขึ้น ต่างองค์ต่างก็ส่องไฟฉายไปดู ก็ไม่เห็นพบอะไร เมื่อดูอยู่ชั้นล่างเสียงจะไปดังอยู่ชั้นบน เพราะศาลาเป็น ๒ ชั้น เมื่อตามขึ้นไปดูชั้นบน ก็จะมาดังอยู่ชั้นล่าง จนท่านทั้งสององค์แน่ใจว่า นี่คงจะเป็นเปรตแน่ แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็เลยพูดว่า ถ้าเป็นเปรตจริง ก็อย่ามารบกวนเพราะเดินทางมาเหนื่อย จะเป็นบาปเป็นกรรมหนักยิ่งกว่าเก่านะ ให้ไว้พักบ้าง จากนั้นเสียงก็ได้เงียบไปตลอดคืน ไม่มีเสียงรบกวนอีก

คนที่เป็นเปรต

คนที่เป็นเปรตนั้นเดิมเป็นทายกวัด เก็บปัจจัย (เงิน) ของวัด แล้วนำไปซื้อหวย (ซื้อเบอร์) ยังไม่ทันได้ใช้แทน และไม่ได้สั่งบอกลูกเมียเอาไว้ เมื่อตายไปแล้วจึงเป็นเปรต

ชาวบ้านก็ไม่รู้แน่ว่า เป็นใครกันแน่ แต่สงสัยเพราะคนนี้ตายไปจึงมีเปรต ลูกเมียก็ทำบุญอุทิศให้แต่ก็ยังไม่หาย ครั้นต่อมามีคนเห็นคือเห็นทายกคนนั้นนั่งห้อยเท้าไกวขาอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในวัด

จึงได้แน่ใจว่าเป็นคนคนนี้แน่ๆ แล้วลูกเมียก็ตกใจ เที่ยวค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวกับเงินของสงฆ์ที่แกเก็บรักษาเอาไว้ เสร็จแล้วก็ได้นำเงินมาแทน มามอบคืนสงฆ์ เปรตนั้นจึงได้หาย


๏ พรรษาที่ ๒๐-๒๑

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้พาโยมแม่ของท่านไปพักอยู่กับ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) บ้านหนองแซง ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ และได้อยู่ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ด้วยอาศัยบารมีของหลวงปู่บัว ซึ่งระยะนั้นก็มี คุณแม่ชีเทียบ เป็นหัวหน้าแม่ชีที่วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) ได้พักอยู่ที่วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) นั้นเป็นเวลา ๒ ปี อันเป็นพรรษาที่ ๒๐-๒๑ ของท่านพระอาจารย์

พรรษาที่ ๒๒-๓๖
สาเหตุที่จะได้มาอยู่วัดป่าแก้วชุมพล

ชาวบ้านในหมู่บ้านชุมพล บ้านขาม บ้านคำเจริญ ซึ่งชาวบ้าน ๒-๓ หมู่บ้านนี้ส่วนมากจะอพยพมาจากเขตจังหวัดอุบลราชธานี และชาวบ้าน ๒-๓ หมู่บ้านนี้ส่วนมากจะเป็นลูกๆ หลานๆ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ได้ติดตามปฏิบัติรับใช้หลวงปู่ขาวมาโดยตลอด เช่น ปีที่ท่านพักจำพรรษาที่ภูค้อ อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านเหล่านี้จะตามส่งเสียเรื่องเสบียงอาหารมาโดยตลอด เพราะที่ภูค้อนั้นไม่มีหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต จะต้องอาศัยชาวบ้านเอาเสบียงไปส่ง โดยให้แม่ชีทำถวายท่าน และสมัยที่ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ภูวัง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เป็นต้น

เฉพาะหมู่บ้านชุมพล “วัดป่าแก้วชุมพล” แห่งนี้เป็นวัดที่ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดบ้านดงเย็น (วัดประสิทธิธรรม) จังหวัดอุดรธานี นำพาริเริ่มสร้างขึ้น และท่านได้อยู่จำพรรษากับชาวบ้านเป็นเวลา ๒ ปี คือ ปีที่ตั้งวัดทีแรกเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐

ครั้นหลวงปู่ขาวท่านกลับมาจากภูวัว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นี้ ชาวบ้านได้ไปขอพระจากหลวงปู่ขาว เนื่องจากทางวัดป่าแก้วชุมพลนี้ขาดพระที่จะอยู่ประจำวัด หลวงปู่ขาวท่านจึงได้แนะนำให้ไปนิมนต์ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ที่วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) บ้านหนองแซง

ชาวบ้านได้พยายามติดตามนิมนต์ท่านพระอาจารย์อยู่หลายครั้งหลายหน ตั้ง ๖-๗ ครั้ง ผลที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เหตุที่ท่านพระอาจารย์ไม่รับนิมนต์ง่ายนั้น ก็เพราะท่านคิดว่าไม่ใช่ท่านองค์เดียว แต่มีโยมแม่ของท่านด้วย เกิดเมื่อไปแล้วโยมแม่ไม่สะดวกจะลำบาก เพราะอยู่กับหลวงปู่บัวนั้นสะดวกแล้ว เมื่อท่านเห็นว่าชาวบ้านชุมพลเขาเอาจริงเอาจังและรับสภาพทุกอย่าง จะไม่ให้ครูบาอาจารย์และโยมแม่ขัดข้อง จึงได้รับนิมนต์

ท่านพระอาจารย์จึงได้กราบนมัสการลาหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ แล้วพาโยมแม่และน้องสาวของโยมแม่ของท่าน ซึ่งบวชเป็นแม่ชีด้วยกันไปวัดป่าแก้วชุมพล พร้อมกับข้าพเจ้า (ท่านพระอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม) จำได้ว่าเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เดือนเมษายน อันเป็นพรรษาที่ ๒๒ ของท่านพระอาจารย์


๏ การมรณภาพ

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร อยู่จำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพลมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ อันเป็นพรรษาที่ ๓๖ สิริอายุได้ ๕๖ ปี ซึ่งเป็นปีที่ท่านประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกได้ถึงแก่มรณภาพ ณ ท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา พร้อมกับครูบาอาจารย์อีก ๔ รูป คือ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เดือนเมษายน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ได้รับอาราธนาจากทางสำนักพระราชวัง กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระคณาจารย์อื่นๆ อีกจำนวน ๔ รูป คือ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงพ่อวัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ และท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม พระคณาจารย์ทั้งหมดจึงได้ไปรวมกันที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อขึ้นเครื่องบิน เพราะลูกศิษย์ลูกหาต้องการถวายความสะดวกและเพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง โดยได้ขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓

ครั้นเมื่อเครื่องบินมาถึงท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เหลือระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเศษ เครื่องบินได้ตั้งลำและลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงสู่สนาม แต่เนื่องจากเครื่องบินได้ประสบพายุหมุนและประกอบกับฝนตกหนัก จึงเสียหลักตกลงที่ท้องนาทุ่งรังสิต ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและคณะจึงได้ถึงแก่มรณภาพ พร้อมด้วยผู้โดยสารอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา

ผู้โดยสารที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่นั่งทางส่วนหางของเครื่องบิน เพราะส่วนหางของเครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและคณะได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว มีการนำศพไปตกแต่งบาดแผลที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช แล้วนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้ง ๗ วัน วันแรกพระราชทานหีบทองทึบ วันต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งให้เปลี่ยนใหม่เพราะทรงเห็นว่าไม่สวยงาม จึงได้เปลี่ยนเป็นหีบลายทอง

หลังจาก ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทรงเป็นเจ้าภาพ และในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะรัฐบาลซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ของพระคณาจารย์ที่มรณภาพดังกล่าวซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและคณะที่จากไปอย่างยิ่งยวด ยังความปลื้มปิติยินดีแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนสหธรรมิก คณะศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและคณะอย่างหาที่สุดมิได้

เมื่อครบกำหนดการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน แล้วก็ได้อัญเชิญศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและพระคณาจารย์อื่นๆ อีกจำนวน ๔ รูป กลับไปสู่ยังวัดเดิมของแต่ละท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัวหน้าแผนกพระราชพิธีเป็นผู้ดูแลโดยตลอด

สำหรับรถยนต์ที่เชิญศพพระคณาจารย์ต่างๆ คุณหมอปัญญา ส่งสัมพันธ์ แห่งโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เป็นผู้จัดหา และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง

ต่อมาเมื่อวันพุธที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา ขบวนรถเชิญศพได้เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำขบวน ถัดมาเป็นรถหลวง, รถท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิติวิริโย และรถเชิญศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองและคณะ ตามลำดับ เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ นาฬิกาเศษ ขบวนรถเชิญศพได้มาถึงยังจังหวัดนครราชสีมา มีคณะพระภิกษุ-สามเณรโดยการนำของ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระชินวงศาจารย์ และ พระเทพสุทธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูคุณสารสัมปัน พร้อมด้วยคณะอุบาสก-อุบาสิกา ได้นำข้าวห่อมาต้อนรับคณะเชิญศพและมาเคารพศพกันเป็นจำนวนมาก

หลังจากพระฉันอาหารและเจ้าหน้าที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ขบวนรถเชิญศพได้ออกเดินทางต่อไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ทางวัดโพธิสมภรณ์และชาวอุดรธานีได้จัดต้อนรับเป็นอย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้นำประชาชนหลายจังหวัดมารอเคารพศพ ซึ่งแล้วเสร็จเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกาเศษ รถเชิญศพจึงได้แยกย้ายกันไปยังวัดต่างๆ สำหรับศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ได้ไปถึงวัดป่าแก้วชุมพล นับว่าการเชิญศพถึงวัดได้รับความสะดวกสบายปลอดภัยทุกประการ

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ได้มรณภาพเมื่อสิริรวมอายุได้ ๕๖ ปี พรรษา ๓๖ โดยท่านได้มรณภาพลงพร้อมกันกับพระคณาจารย์อื่นๆ อีกจำนวน ๔ รูป ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยของคณะสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิก คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ที่ต้องสูญเสียครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไปพร้อมกันทีเดียวถึง ๕ รูปด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียของวงการสงฆ์ครั้งใหญ่มากอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย

ได้รับความไว้วางใจ

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มหาบัวมาก ท่านพระอาจารย์มหาบัวมักจะมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่บางอย่างแทนท่าน อย่างเช่นเป็นประธานด้านบรรพชิตในการดำเนินงานศพของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) จังหวัดอุดรธานี

ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่เรียบร้อยทุกประการ ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้ปรารภว่า หากท่านละขันธ์เมื่อใด ขอมอบให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นประธานในการดำเนินงานศพของท่าน

นอกจากนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวยังหวังจะให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นหัวหน้าหมู่คณะพระป่ากรรมฐานแทนองค์ท่านด้วย แต่บังเอิญท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้ถึงแก่มรณภาพไปก่อน และท่านพระอาจารย์มหาบัวต้องกลับมาเป็นประธานในการจัดงานศพให้

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติ

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น เป็นเช่นเดียวกันกับปฏิปทาของครูบาอาจารย์กรรมฐาน คือตัวท่านพระอาจารย์จะปฏิบัติตนให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่างเสมอ

อาทิเช่น การรักษาศีลโดยเคร่งครัด และท่านพระอาจารย์จะเทศน์อบรมและควบคุมปฏิปทาด้านการรักษาศีลของลูกศิษย์ของท่านอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งดุด่าว่ากล่าวเมื่อลูกศิษย์ผิดพลาดด้านศีล

เพราะการที่ลูกศิษย์จะก้าวหน้าทางด้านสมาธิภาวนานั้น ต้องมีพื้นฐานทางด้านศีลเป็นที่รองรับ ส่วนการทำความพากเพียรเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานั้น ท่านจะปฏิบัติให้ลูกศิษย์ได้เห็นอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

คือตอนเช้า ท่านจะเดินจงกรมก่อนออกบิณฑบาต ฉันจังหันเสร็จท่านจะพักประมาณเที่ยง แล้วจะลงเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาต่อ ครั้นถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ท่านจะไม่ยอมขาดถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ

ตอนพลบค่ำเวลา ๕-๖ โมงเย็น ท่านจะเดินจงกรมเป็นประจำทุกวัน โดยจะขึ้นจากทางเดินจงกรมประมาณ ๒ ทุ่มของทุกวัน บางครั้งท่านไปธุระทางไกลมา พระเณรไปจับเส้นถวาย พอจับเส้นเสร็จแล้วแทนที่ท่านจะพักผ่อน ท่านกลับลงเดินจงกรมอีก นอกจากนั้น ท่านจะเดินสำรวจดูการปฏิบัติ การทำความพากเพียรของพระเณร โดยบางครั้งท่านเดินไปมืดๆ ไม่ใช้ไฟฉาย และออกตรวจไม่เป็นเวลาแน่นอน ท่านพยายามขนาบพระเณรให้เร่งทำความเพียร พร้อมกับเทศน์อบรมสั่งสอนอยู่เสมอๆ

ท่านห้ามพระเณรไปคุยกับตามกุฏิ ฉันน้ำร้อนคุยกันเสียงดังหน่อยหรือใช้เวลานานเกินควร ใช้ของไม่ประหยัด เช่น สบู่ ใช้สบู่แล้วทิ้งไว้ตากแดดตากฝนไม่เก็บไว้ในกล่อง ท่านคอยตรวจตราดูแลข้อบกพร่องต่างๆ ของพระเณรและตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ ถ้าใครทำความเพียรดี ท่านมักจะชมเชยให้กำลังใจในด้านปฏิบัติแก่ผู้นั้น

การใช้สอยปัจจัยสี่

การใช้สอยปัจจัยสี่นั้น ท่านพระอาจารย์ใช้อย่างประหยัดและมัธยัสถ์เสมอ เช่น ผ้าต่างๆ ของท่านจะปะชุนแล้วปะขุนอีก ผ้าอาบน้ำบางผืนเก่าจนขาดรุ่งริ่งท่านก็ไม่ยอมทิ้ง ยังใช้นุ่งอยู่ทั้งที่ผ้าอาบน้ำมีไม่อดในวัด

เวลากลางคืนท่านจะจุดตะเกียงโป๊ะเล็กๆ หรี่ลงเสียจนจะไม่มีแสง ท่านไม่ยอมใช้ของฟุ่มเฟือยเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ อีกประการหนึ่งท่านไม่ชอบงานก่อสร้างทุกชนิด เช่น สร้างกุฏิ วิหาร หรืออะไรต่ออะไรในวัด

งานต่างๆ ท่านไม่ยอมให้มี ท่านชอบให้พระเณรสร้างด้านจิตใจ คือเดินจงกรม นั่งภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานมากกว่าสร้างสิ่งของวัตถุภายนอก ท่านว่าการก่อสร้างนั้นเป็นเหตุให้เสียการภาวนา ท่านจึงไม่อยากให้มี


๏ ธรรมปฏิสันถาร

ในด้านธรรมปฏิสันถาร ท่านพระอาจารย์มีความเมตตาสูงต่อคณะศรัทธาญาติโยมที่มาให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแก้วชุมพล คณะแล้วคณะเล่าท่านจะเมตตาอบรมธรรมะ พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ด้านการภาวนาของท่านให้ฟัง บางครั้งก็เล่าเรื่องผี ซึ่งมีทั้งผีจริงและผีสังขารหลอกลวง

ท่านจะดูแลเอาใจใส่อย่างรอบคอบที่เกี่ยวกับคณะศรัทธาญาติโยมที่มารักษาศีล และปฏิบัติธรรม ทั้งที่พักและเรื่องอาหารการกิน ทุกคณะที่มาบำเพ็ญภาวนาต่างกันสรรเสริญคุณธรรมข้อนี้ของท่านพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ว่าได้รับความอบอุ่น สบายจิตสบายใจมากเมื่อมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแก้วชุมพล เมื่อถึงกำหนดผู้มาปฏิบัติธรรมจะลาท่านกลับ ท่านจะเทศน์อบรมธรรมะส่งท้ายเกือบทุกครั้ง

คณะศรัทธาญาติโยมผู้ที่มาแล้ว มักจะกลับมาอีก พร้อมกับแนะนำผู้สนใจปฏิบัติธรรมมาเป็นลูกศิษย์ท่านอยู่เรื่อยๆ ตราบจนวาระสุดท้ายของท่านพระอาจารย์

พระธรรมเทศนา

ปัจจุบันทุกวันนี้ก็เหมือนกัน รูปที่เป็นอยู่ เป็นของสกปรกทั้งนั้น ไม่ว่ารูปหญิง รูปชาย รูปพระ รูปฆราวาส เป็นเหมือนกันหมด เหตุใดมันจึงเป็นอย่างนั้น ของที่เราขบฉันรับประทานลงไปเป็นของเน่า ของเหม็น ของเสียทั้งนั้น ไม่ใช่ของดิบของดีอะไร เป็นต้มเป็นแกง เป็นผัดเป็นทอดต่างๆ ถ้าเราทิ้งเอาไว้ ของเหล่านั้นจะเน่า จะเหม็น จะเสีย อยู่ไปคืนสองคืนมีกลิ่นแล้ว นี่ร่างกายของเราที่เอาของเน่าของเหม็นมาบำรุงบำเรอ มันก็เป็นก้อนของเน่า ของเหม็นปฏิกูล ไม่ใช่ของสวยงามอะไร เพราะเหตุนั้น ในร่างกายของเราทั่วไป ไหลออกทางทวารใดก็มีแต่ของสกปรกเน่าเหม็น ไม่เป็นของดิบของดี ของหอมหวาน มีแต่ของเน่า เพียงแต่ลมออกมาเท่านั้น มันก็ยังมีกลิ่น แสดงว่ามันเน่าทั้งตัว มันเหม็นทั้งตัว ไม่มีอะไรที่จะดีวิเศษ

• เวลาเราโกรธด่าว่าทุบตีเขา เราก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่จิตมุ่งอยากจะให้คนนั้นคนนี้เขาดี จึงดุด่าว่ากล่าว โกรธเขาถ้าเขาไม่ทำตาม แต่เราสอนเขาด้วยความโกรธในจิตในใจนั้นไม่เป็นผลประโยชน์ เหมือนกับเอาน้ำร้อนๆ ไปรดผัก แทนที่มันจะงอกงามขึ้น ไม่เป็นอย่างนั้น มันไหม้มันตายไปหมด เพราะน้ำที่เราไปรดมันร้อนฉันใด จิตใจของคนที่โกรธไปแนะสอนคนอื่น บอกคนอื่นด้วยความโกรธ จึงเป็นโทษเป็นทุกข์ เขาไม่ยินดีรับคำสอน
ในระหว่างการกล่าวธรรมปฏิสันถาร ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๐ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้เล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นเคยสอนท่านว่า “หนังสือตัวเล็กๆ มันเรียนง่าย เรียนแล้วก็หลง เรียนตัวใหญ่ คือ เรียนกาย เรียนใจของตัวเอง ถ้าได้ตัวนี้ละ ไม่มีหลง” ท่านอาจารย์สิงห์ทองเล่าและกล่าวเน้นอีกด้วยว่า “จริงของท่าน ไม่รู้อันอื่น แต่ขอให้รู้ใจของตน”

“ไม่มีอันอื่น...ก็ขอให้มีอรรถ มีธรรมประจำตัว”

“มันประเสริฐ วิเศษอยู่แล้ว”

ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติม...ไม่เห็นไม่รู้อะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้เห็นให้เป็นในเรื่องของอรรถเรื่องของธรรมเท่านั้นเป็นดี เท่านั้นเป็นพอ ฯลฯ

๏ หมากกระดานชีวิต

เราทุกคนที่ได้มานั่งร่วมวงกันอยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อเสร็จจากงานกันแล้วก็จะต้องแยกย้ายกันไป กลับบ้านของตน และถ้ามองให้ลึกลงไปอีกก็จะรู้ว่า ต่างคนต่างก็จะต้องจากกันไปจริงๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไปตามทางกรรมของแต่ละคน แล้วแต่กรรมที่เราทำกันมา

มัจจุราช คือ ความตาย ไม่เคยเห็นแก่หน้าใคร เขาไม่มีการไว้หน้าไม่ว่าชาย ไม่ว่าหญิง เขาไม่ไว้หน้าทั้งนั้น จะติดขัดอะไรอยู่ เขาก็ไม่รับรู้ ลูกจะเล็กอยู่ก็ตาม พ่อแม่จะป่วยอยู่ ไม่มีคนคอยช่วยเลี้ยงดู เขาก็ไม่รับรู้เรื่องอย่างนี้เราเคยคิดคำนึงถึงกันไว้บ้างไหม ?

ควรพิจารณาเรื่องความตายให้เข้าใจว่า ต่อให้มีพรรคพวกมากมายเพียงใด มีเวทมนตร์คาถาดีสักเพียงไหน จะมียาดีสักเท่าใด จะบำบัดรักษาความเจ็บป่วยได้ ก็ชั่วกาลชั่วสมัย ระงับดับได้ก็ชั่วเวลาเป็นครั้งคราว และแล้วผลที่สุดก็ต้องตายเหมือนๆ กัน เรื่องหยูกเรื่องยาที่รักษาได้ ก็เมื่อมันยังไม่ถึงคราวถึงสมัยถึงกาลที่ควรตายเท่านั้น

ความตายจึงเป็นภัยอันตรายซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาของใครๆ แต่ก็ไม่มีใครที่จะมาแก้ไข ยกเลิกหรือหลีกเลี่ยงความตายเอาไว้ได้ ทุกคนจึงต้องตาย

บาปบุญที่ตนสะสมรวบรวมเอาไว้นั่นแหละ คือ เครื่องใช้สอยของตนที่จะติดตามไป แม้บาปบุญจะป้องกันความตายไว้ไม่ได้ แต่ทว่าบาปบุญนั้นจะเป็นกำลังเป็นเสบียงที่จะคอยติดสอยห้อยตามไปอำนวยทุกข์สุขให้เราในภพต่างๆ เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องแสวงหาภพใหม่ชาติใหม่ หาที่อยู่ที่อาศัยที่ตนต้องการ แต่ความต้องการจะได้สมหมายนั้น ก็เพราะเหตุบุญกุศลที่ตนสร้างสมเอาไว้ คนที่ไม่มีบุญกุศล อยากจะไปเกิดในสถานที่ดีก็ไปไม่ได้

ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนหมากกระดาน เมื่อตายแล้วก็ล้มกระดานชีวิตไปชีวิตหนึ่ง สิ่งของทรัพย์สมบัติทางโลกที่มีอยู่ก็ต้องกวาดลงกระดานไป แล้วเริ่มตั้งใหม่กันอีกครั้งในชาติใหม่ แบบแผนในการตั้งกระดานใหม่จะกำหนดด้วยเวรกรรม บาปบุญของแต่ละคน ไม่น้อยไปกว่านั้นและจะไม่เหนือไปกว่านั้นด้วย ดังนั้นก่อนจะมีการล้มกระดานชีวิตนี้ เราควรทำอะไรสำหรับการเตรียมตั้งหมากในกระดานชีวิตใหม่ของเราด้วย จงอย่าประมาทในชีวิตนี้ จงรีบทำความดี ละบาป ชำระใจของตนเองอยู่เสมอๆ เถิด

หมากกระดานเล่นแล้วก็ตั้งใหม่ ถ้าผู้เล่นมีความประสงค์อยากเล่นต่อ เช่นเดียวกับชีวิตเมื่อโลดแล่นไปจนตายแล้วก็เกิดใหม่ ตราบเท่าที่จิตยังติดยึดกับโลกียสมบัติทั้งหลายอยู่ จิตนี้ก็จะพาไปก่อชีวิตใหม่ไม่รู้จักจบสิ้น ในเกมหมากกระดานนั้นเมื่อผู้เล่นไม่ต้องการเล่นต่อไปอีกแล้ว คือ หมดความอยากแล้ว หมากกระดานก็จะถูกวางทิ้งเฉยอยู่อย่างนั้นเช่นเดียวกันกับชีวิตจิตที่หมดความติดยึดในสิ่งทั้งปวง ชีวิตร่างกายทั้งหลายก็จะสงบระงับ ไม่ต้องมาวนเวียนโลกโลกีย์นี้อีกเช่นกัน

๏ หัดปฏิบัติ

ปฏิบัตินั้นก็หัดกันที่จิต ถ้าจิตเรามีธรรมในตัว ก็สามารถที่จะนำเอาสิ่งที่ตัวประสบพบเห็น เข้ามาสอนจิตใจของตัวเองได้ สามารถที่จะคิดพิจารณาในเรื่องในแง่ที่ตรงกันข้ามกับโลกที่เขาคิดกันได้ จะไปดูหนัง ฟังลิเกก็อาจเกิดสลดสมเพช แทนที่จะเพลิดเพลินไปกับเขา แต่กลับมาคิดดูเห็นความจริงอีกแง่ว่า คนที่เล่นอยู่นี้ที่เขาเพลิดเพลินอยู่ก็ดี คนที่ยืนชม นั่งชมกันอยู่นี้เป็นร้อย เป็นพันก็ดี คนเหล่านี้อีกไม่ถึงร้อยปี ก็จะตายหมด ไม่มีใครเหลือหลอ เราผู้ที่ดูอยู่นี่ก็ทำนองเดียวกัน ดังนั้น ที่ดูน่าเพลิดเพลินอยู่นี้มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากำหนัดเพลิดเพลินแต่อย่างไรเลย

ความตายนั้นมีด้วยกันทุกคน ถ้าไม่คิดถึงความตาย มีแต่อยากได้อย่างเดียว มันก็ลุ่ม มันก็หลง ลืมเนื้อ ลืมตัวกันไป ใจทำกำเริบเสิบสาน ถ้าหากระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ ใจนั้นจะค่อยๆ คลายความลุ่มหลงต่างๆ คลายความกำหนัดยินดีในโลกลงได้

๏ เหนื่อยจนตาย

ที่ไหนๆ ในโลก ไม่ว่าประเทศไทย หรือในต่างประเทศ จะพบว่ามีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่หรูหราใหญ่โตสวยงามให้เห็นกันอยู่มากมาย และถ้าจะถามว่า จิตใจของบุคคลที่อยู่ที่อาศัยในบ้านเรือนที่สวยงามเหล่านั้น จะมีความเยือกเย็นเป็นสุขกว่าใจของคนอื่นๆ ที่มีฐานะต่ำกว่าเขาหรือไม่ ก็คงจะตอบได้ว่า ไม่แน่เสมอไป ทั้งนี้ก็คงเพราะว่าเรื่องของวัตถุนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสงบที่แท้จริงให้กับคนเราได้ วัตถุไม่ใช่สิ่งที่จะมาชำระล้างจิตใจของมนุษย์ได้ บ้านเรือนที่หรูหราจึงไม่ใช่เครื่องหมายที่จะบอกได้ว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นมีจิตใจสงบมากน้อยเพียงไร

สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหน ถ้าใจมันสงบระงับได้ มันก็เป็นสุขได้ ฉะนั้น การฝึกอบรมใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ถ้าจิตใจมีแต่ความยึดถือหลงใหลในสิ่งต่างๆ อยู่อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จิตใจก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดไป ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องของกาย เรื่องของใจทำงานอะไรก็เพื่อกาย เพื่อใจ ทั้งนั้น วิ่งวุ่นกันอยู่ตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย ก็เพราะเรื่องของกายกับใจ คนเรามัวแต่วุ่นวายในงานต่างๆ ทั้งกลางวันกลางคืน โดยส่วนใหญ่ก็เป็นงานภายนอก งานสะสมสร้างฐานะของแต่ละบุคคลทั้งนั้น วุ่นวายจนนั่งไม่ติด เดินไม่ตรง หรือนอนไม่หลับกันไปก็มี เหล่านี้ก็เพราะความยึดถือนั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ เช่น เกิดยึดถือว่า เราจะมีฐานะสู้เขาไม่ได้ ถ้าจะถามว่าสู้ใคร มันก็มีคนที่มีฐานะดีกว่าเราให้เปรียบเทียบเสมอนั่นแหละ

เมื่อไรจะรู้สึกว่าฐานะตัวดีพอที่จะหาความสุขกับมันได้จริงๆ บ้าง ใครมีความพอได้ คนนั้นก็จะมีความสุขได้ พอจริงก็สุขจริง พอได้มากก็สุขได้มาก หัดวางเสียบ้าง หัดวางเสียหน่อย ก่อนที่สังขารจะบังคับให้วางก่อนที่ความเฒ่าชรา และความตาย หรือโรคร้ายจะเป็นผู้บังคับให้วาง ถ้ายังไม่หัดวางจะเป็นผู้ที่เหนื่อยจนตาย แล้วก็ขนอะไรไปด้วยไม่ได้เลยในที่สุด

๏ บนทางจงกรม

ท่านพระอาจารย์อุ่น (อุ่นหล้า) ฐิตธมฺโม ได้เมตตาเล่าไว้ในหนังสือประวัติย่อของพระอาจารย์สิงห์ทองว่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๙ ถึงพรรษาที่ ๑๑ ของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยทราย ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร โดยมีท่านพระอาจารย์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้นำ

ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ท่านพระอาจารย์อุ่น (อุ่นหล้า) ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมา มองไปเห็นแต่แสงไฟ (แสงโคมตะเกียงที่จุดไว้) สว่างตามกุฏิของพระเณรอยู่เหมือนกับไม่นอนกัน

สำหรับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ท่านก็เร่งความเพียรเต็มที่ จนทางจงกรมลึกเป็นร่อง ทำให้พระเณรต้องถมทางจงกรมให้บ่อยๆ ท่านเล่าว่าวันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ ระยะนั้นเป็นหน้าหนาว อากาศหนาวมาก ท่านต้องห่มผ้า ๓-๔ ผืน เดินจงกรม พอเดินไปๆ ดึกเข้า ท่านก็ง่วงนอนมากเพราะคราวนั้นท่านอดนอนมาได้สามคืนแล้ว เดินไปๆ ผ้าห่มผืนนอกสุดก็หลุดตกลงมาโดยไม่รู้ตัว พอเดินไปถึงหัวทางจงกรมแล้ววกหันกลับมา เห็นผ้าห่มของตัวเองก็ตกใจ นึกว่าเสือหรืออะไรหนอ ?... เพราะสมัยนั้น เสือยังมี...เดือนก็ไม่สว่างเท่าไร... ท่านจึงกระทืบเท้าดู มันก็นิ่ง... เอ๊ะ ! มันอะไรนา ?...เลยค่อยๆ ขยับเท้าเข้าไปๆ... ก้มดูใกล้ๆ แล้วเอาเท้าเขี่ยดู... ที่ไหนได้เป็นผ้าห่ม ท่านก็เลยหัวเราะขำอยู่คนเดียวพักใหญ่ เลยหายง่วง... ฯลฯ

“ประโยชน์อะไรกับทรัพย์สมบัติ ซึ่งเอาแต่เก็บไว้
ประโยชน์อะไรกับรี้พล ซึ่งไม่ใช้ต่อสู้ศัตรู
ประโยชน์อะไรกับพระคัมภีร์ ซึ่งละเลยไม่ใช้ท่องบ่น
ประโยชน์อะไรกับร่างกาย ซึ่งเจ้าของไม่รู้จักข่มใจจากความคิดชั่ว”

๏ สติ

ธรรมที่ควรเจริญให้มีมากนั้น คือ สติ สตินี้ถึงมีมากเท่าไรก็ไม่เป็นภัย สติมีมากเท่าไรยิ่งดี มีสติมากใจมันจะไว ใจมันจะทันเหตุการณ์ เพียงอะไรนิดอะไรหน่อยที่จิตคิดปรุงภายใน ใจมันก็รู้ สติจะทำให้ไว รู้คัดเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนกับคนตาดี สิ่งไหนไม่ดีเขาเห็น เขาก็ไม่จับไม่ต้อง ไม่เอามา ส่วนคนตาบอด เมื่อมองไม่เห็น เมื่อเขาไม่รู้ เขาก็จับได้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ไฟก็ยังเหยียบ ยังจับได้ เพราะตาไม่เห็น คนตาดีเขาก็ต้องเว้น ไม่ไปเหยียบ ไม่ไปจับ ไม่ใช่แต่ไฟ ถึงหนามหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ เขาก็เลี่ยง ไม่ไปเหยียบ ไม่ไปจับ

สติก็เช่นกัน ถ้าเรามีอยู่ในจิตในใจ จะทำ จะพูด จะคิด สิ่งใด ถ้าเรามีสติ สติจะพาเราเลี่ยงสิ่งที่เป็นภัย เป็นอันตรายทั้งหลาย เรื่องสติจะหาที่ไหน จะไปหาที่ไหนก็ไม่เจอ ถ้าหากไม่ดูที่ตัวของตัว ต้องฝึกต้องหัดให้รู้จักกำหนดพิจารณาดูอยู่ภายนอก อย่าไปดูที่อื่น สำคัญที่ต้องกำหนดรู้ ให้ดูรู้ เข้าใจตามความเป็นจริง รู้จักพิจารณาไตร่ตรองที่เรียกว่า มีสัมปชัญญะ มีปัญญา รู้จักทำความเข้าใจตามความเป็นจริง ความรู้นี้จะเป็นสุขก็ตาม จะเป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม มันรู้ ตื่นอยู่ หลับอยู่มันก็รู้ นี่คือเรื่องของจิต สำคัญที่จิตอย่าไปติดข้อง

สติไม่มีทางเจริญขึ้นมาได้ ถ้าหากเราไม่มีปัญญาสอนใจให้รู้จักพิจารณาแก้ไขใจของตัว ไม่ใช่ว่ามันจะโง่เง่าเขลาอยู่ตลอด ไม่ใช่ว่ามันจะติดข้องอยู่ร่ำไป เมื่อฝึกอบรมแล้ว เราก็จะรู้เอง มันไม่คลุกเคล้าเมาความชั่วเหมือนเดิม มันจะฉลาดว่องไวขึ้น เรื่องอย่างนี้ต้องฝึก แล้วจะเข้าใจไม่ต้องมีใครมารับรอง ไม่ต้องหาประกาศนียบัตร เรารู้เอง ตัดสินตัวเองได้ว่าเราก้าวหน้ามีสติสัมปชัญญะเจริญขึ้นมาเพียงใด แต่ก่อนเป็นอย่างไร ปฏิบัติมาแล้วเป็นอย่างไร ตลอดปัจจุบันมันเป็นอย่างไร ตรวจชำระเองได้เรื่อยตลอดไป เมื่อทำแล้วสติย่อมดีขึ้น ความประมาทเผลอเรอก็จะลดลง

๏ อกาลิโก

ธรรมยังคงเป็นอกาลิโกจริง ธรรมยังคงเส้นคงวาไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะหมดไปตามกาลสมัย ไม่ใช่กาลเวลาล่วงไปแล้ว ใครจะพยายามปฏิบัติธรรมกันเท่าไร ก็จะไม่เห็นความสุข จะไม่พบความสบายปรากฏกับตน ผู้ใดประพฤติปฏิบัติจริงจังย่อมจะได้เห็นอานิสงส์ของการปฏิบัตินั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เสียงมาร เสียงกิเลสที่เคยคอยมากระซิบให้ยึดมั่นสำคัญผิดว่าธรรมหมดไปแล้ว ขณะนี้มรรคผลต่างๆ หมดไปแล้ว ก็จะไม่หลุดไม่ตกไปจากใจของผู้ปฏิบัติ และใจก็จะได้รับอิสระ หลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

ทุกคนมีโอกาส มีเวลาฝึกจะปฏิบัติกันได้ อย่าได้ไปคิดว่าธรรมหมดยุค หมดเวลาแล้วที่จะมีคนไปเข้าใจได้ ธรรมมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร โลกนี้ก็เปิดเผยชัดอยู่แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีเวลาที่จะปิดบังใคร แต่ที่เหมือนปิดบังนั้น เพราะขาดผู้ปฏิบัติที่จริงจังต่างหาก ใจของเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาจึงลุ่มหลง ทั้งๆ ที่ธรรมต่างๆ สิ่งต่างๆ ยังคงมีอยู่ธรรมดาเป็นปกติ ทุกคนต่างก็อยากมีความสงบ ต่างก็อยากมีความเย็นใจ จงตั้งหน้าตั้งตาภาวนารักษาใจของตัว เมื่อใจเป็นอรรถเป็นธรรมจริงจังแล้ว เห็นอะไรก็จะเป็นอรรถเป็นธรรมไปหมด อยู่สถานที่ใด ก็เป็นอรรถเป็นธรรมในสถานที่นั้น เป็นสุคโตในเมื่อเวลาอยู่ เป็นสุคโตในเมื่อเวลาไป อยู่สถานที่ใดก็ไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่ตัวของตัว และไม่เป็นเวรเป็นภัยแก่คนอื่นและสัตว์อื่นอยู่สถานที่ใด ก็จะเกิดเป็นสิริ เป็นมงคลในสถานที่นั้น

ธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ธรรมคือของเก่า ผู้ปฏิบัติจริงก็ย่อมได้ผลเหมือนเก่า คือ ย่อมได้ความหลุดพ้นเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับของการปฏิบัติ สิ่งที่จะเห็น ที่จะเป็น ที่จะรู้นั้น ผู้ปฏิบัติย่อมได้พบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ เพราะคำสอนทั้งหลายของพระองค์ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็เท่ากับได้ชื่อว่า พระศาสดานั้นยังคงอยู่ รีบๆ ปฏิบัติกัน ต้องพยายามฝึกกาย ฝึกใจกันไป ไม่ต้องไปมัวคอยอ้างกาล อ้างเวลา เมื่อเราได้ชำระความชั่วออก ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เราก็ยังมีทางที่จะบริสุทธิ์ได้ นี่คือทางแห่งปัญญา เป็นทางชำระใจ ทางแห่งความบริสุทธิ์นิรันดรกาล