...ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมเวปด้วยความยินดียิ่งครับผม ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี...

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)



เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี
www.facebook.com/groups/226951157350091
http://luangpumun.blogspot.com/


พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)หรือที่นิยมเรียกด้วยความเคารพว่า "หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต"(20 มกราคม พ.ศ. 2413—11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุชาวไทยสายธรรมยุตชื่อดังในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย เมื่อท่านเป็นพระภิกษุ ได้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า แก่ประชาชน ทำให้ท่านมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก จึงทำให้แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นคำสอนพระวัดป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์ของท่านเรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

ภูมิหลัง
ชื่อเดิมคือ "มั่น แก่นแก้ว" ท่านเกิดที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว และได้อุปสมบทในธรรมยุติกนิกายเมื่ออายุ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2436 ณ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระอนุสาวนาจารย์
ก่อนหน้านี้หลวงปู่มั่นได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 15 ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก" ครั้นอายุได้ 22 ปีจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนากับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานีจนกระทั่งท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษา แล้วไปศึกษาธรรมะจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร แล้วออกจาริกไปอีกหลายที่หลายแห่ง จนกระทั่งถึงที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกเขาสาริกา จ.นครนายก

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ประมาณปี 2450 - 2453 ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาริกา จ.นครนายกนี่เอง ท่านได้ประสบเหตุการณ์ต่าง หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้เลิกล้มความต้งใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านทดลองพักดู
ขณะที่พักที่ถ้ำสาริกาแห่งนี้ในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน พอดีคืนต่อๆมา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอ้ศจรรย์ สามวันสามคืน แม้กระทั่งเม็ดทราย พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า "ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว" เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี (ยังไม่ชำนิชำนาญ) เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด 500 ชาตินั้นเองจึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า "กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง"คือว่าพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่าเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดูเกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดม จึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า ท่านเล่าอีกว่าจึงถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จนเกิดเหตุในนิมิตว่ามียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ จนยักษ์ได้ยอมแพ้ จึงอันตรธานหายไป ในกาลเวลาต่อมาจิตท่านจึงรวม เห็นว่าโลกใบนี้ราบเลียบเตียนแล้ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสมอกัน
ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ขณะนั้นท่านจึงจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลี ผู้นิมนต์ที่เป็นอาจารย์ของตน ขณะที่กำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านรำพึงในใจว่า"หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็นเหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้" ท่านจึงได้สละตำแหน่ง หนีธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง11ปี
จนในปี พ.ศ. 2478 ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า "ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตระกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น" ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านให้นิวัติกลับภาคอีสาน โดยท่านได้อาศัยรถไฟสถานีเชียงใหม่ ลงที่นครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาลวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ต.นาใน จ.สกลนคร พอพระภิกษุเข้ามาอยู่ศึกษากับท่านมาเข้า ท่านจึงดำริว่าจะย้ายที่จำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร พอเข้ามาลงหลักปักฐานที่วีดป่าบ้านหนองผือเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายการหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง แก่ลูกศิษย์โดยอุบายทางตรงแลทางอ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
พระเดชพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระบิดาพระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ 4 อย่าง คือ
อัตถปฏิสัมภิทา - แตกฉานในอรรถ
ธรรมปฏิสัมภิทา - แตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา - แตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - แตกฉานในปฏิภาณ
โดยปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงควัตร ท่านเป็นผู้มีความจริงจังในการงานตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 4 ประการ คือ
ปังสุกุลิกังคธุดงค์ - ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล
ปิณฑปาติกังคธุดงค์ - ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
เอกปัตติกังคธุดงค์ - ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
เอกาสนิกังคธุดงค์ - ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์

อุบายสอนธรรมอันแยบคาย
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ไปศึกษ่าข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมาก สามรถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์ สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า

วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน

ท่านพระอาจารย์มั่น มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ไหนป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์นั้นต่างหาก

สุบินนิมิตของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เป็นเรื่องเล่าของหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับสุบินและนิมิตต่างๆ ในสมาธิที่ท่านเห็น ซึ่งได้ความเพลิดเพลินที่แฝงธรรมอยู่ด้วย
ณ ที่วัดเลียบเมืองอุบล หลวงปู่มั่นได้เพียรปฏิบัติภาวนามาอย่างไม่ลดละ การดำเนินจิตของท่านมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ มีนิมิตที่น่าสนใจสองครั้ง ครั้งแรก หลวงปู่เล่าว่าคืนหนึ่ง เราได้หลับไปแล้วแต่การหลับของเราขณะนั้นเหมือนจะตื่น เพราะเราต้องกำหนดจิตให้มีสติไว้เสมอ ท่านรู้สึกว่าฝันไปว่าเดินออกจากบ้านเข้าสู่ป่าที่รกชัฏ พบต้นไม้ใหญ่ชื่อต้นชาด ถูกโค่นล้มอยู่กับพื้น กิ่งก้านผุพังแล้ว ท่านขึ้นไปยืนบนขอนต้นชาด มองไปข้างหน้าเห็นทุ่งกว้าง ทันใดมีม้าขาวมาหยุดอยู่ใกล้ๆ ท่านขึ้นไปนั่งบนหลังม้า แล้วม้าก็วิ่งผ่านทุ่งไปจนสุดพบตู้พระไตรปิฎกตั้งตระหง่านอยู่ ท่านไม่ได้เปิดตู้ดูแล้วรู้สึกตัวตื่น
ท่านได้ทบทวนเรื่องที่ฝัน เกิดความรู้สึกมั่นใจในการปฏิบัติภาวนาของท่าน ภายหลังท่านได้ทำนายเหตุการณ์ที่ฝันให้ฟังว่า ที่ออกจากบ้านก็คือออกจากเพศฆราวาส ไปพบป่าชัฏแสดงว่ายังไปไม่ถูกทางจริงจึงต้องลำบากหนัก ที่ท่านได้ขึ้นไปบนขอนไม้ชาดที่ผุแล้วแสดงว่าชาตินี้อาจเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เหมือนต้นชาดนั้นย่อมไม่สามารถงอกได้อีกแล้วท่านต้องแสวงหาต่อไป ทุ่งโล่งหมายถึงแนวทางที่ถูกต้องเป็นทางที่ไม่ลำบากนัก การได้ขี่ม้าขาวหมายถึงการเดินทางไปสู่ความบริสุทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว การพบตู้พระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เปิดดูก็คือท่านคงไม่ถึงปฏิสัมภิทาญาณถ้าได้เปิดดูก็คงแตกฉานกว่านี้ เพียงได้ความรู้ถึงปฏิสัมภิทานุศาสน์สามารถสอนผู้อื่นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
หลวงปู่ได้เร่งความเพียรหนักขึ้นได้เปลี่ยนวิธีการคือพอจิตดำเนินถึงขั้นสงบนิ่งแล้วแต่ไม่หยุดที่ความสงบนิ่งเหมือนแต่ก่อน ยกกายขึ้นพิจารณาเรียกว่ากายคตาสติ โดยกำหนดจิตเข้าสู่กายทุกส่วนทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ให้จิตจดจ่อที่กายตลอดเวลาพิจารณาให้เป็นอสุภะจนเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทาญาณ) บางครั้ง ขณะเดินจงกรมอยู่ปรากฏเดินลุยอยู่ข้างศพก็มี เหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏขึ้นเป็นเดือน ท่านว่าปรากฏปัญญาขึ้นมาบ้าง ไม่เหมือนทำจิตให้สงบอยู่อย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมาซึ่งได้แต่ความสุข ความอิ่มใจเฉยๆ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดความหวั่นไหวไปตามกิเลสอยู่ แต่การปฏิบัติในคราวหลังนี้ความรู้สึกหวั่นไหวได้ชะงักลง จึงปลงใจว่าน่าจะไปถูกทาง
นิมิตครั้งที่สอง เกิดขึ้นจากการปฏิบัติในช่วงต่อมา ได้เกิดนิมิตในสมาธิติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 3 เดือน วันหนึ่งหลวงปู่เกิดนิมิตในสมาธิว่า เห็นคนตายนอนอยู่ห่างจากตัวท่านราวหนึ่งศอก มีสุนัขกำลังกัดทึ้งซากศพ ดึงไส้ออกมาเคี้ยวกินอยู่ ท่านจึงกำหนดพิจารณาดูซากศพทุกส่วน กำหนดขยายส่วนต่างๆ ขึ้นพิจารณาจนเห็นเด่นชัด สามารถกำหนดขยายหรือย่อส่วนได้ตามต้องการ (เรียกว่าปฏิภาคนิมิต) ยิ่งพิจารณาไปจิตก็ยิ่งสว่างไสวปรากฏดวงแก้วขึ้นมา แล้วทิ้งการกำหนดอสุภะ มากำหนดเอาเฉพาะดวงแก้วเป็นอารมณ์
วาระต่อไปได้ปรากฏนิมิตเป็นภูเขาอยู่ข้างหน้า ท่านกำหนดจิตขึ้นไปดูเห็นมีห้าชั้น เดินขึ้นไปจนถึงชั้นที่ 5 พบบันไดแก้วแล้วหยุดอยู่ที่นั่น ไปต่อไม่ได้จึงเดินทางกลับ ท่านได้พบว่าท่านได้สะพายดาบและใส่รองเท้าวิเศษไปด้วยในทุกครั้งที่เกิดนิมิต ในครั้งต่อไปเมื่อทำสมาธิ ก็เกิดนิมิตและดำเนินไปเหมือนเดิม เดินไปถึงที่เดิมเห็นกำแพงแก้วเปิดประตูเดินเข้าไป พบพระนั่งสมาธิอยู่ 2 - 3 องค์ ท่านเดินต่อไปจนถึงหน้าผาสูงชัน เดินต่อไปไม่ได้จึงกลับทางเดิม
ในครั้งต่อๆ ไป การทำสมาธิก็ดำเนินไปในแนวเดิมไปพบเห็นสิ่งต่างๆต่อไปเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งได้สวนทางกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ) ท่านเจ้าคุณกล่าวเป็นภาษาบาลีว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วก็เดินไป นิมิตในสมาธิเกิดต่อเนื่องกันไปนานถึง 3 เดือน จนไปถึงที่สุดไม่มีนิมิตอะไรต่อไปอีกแล้ว มีแต่ความสุขสงบเหลือที่จะประมาณได้จนท่านเองสำคัญว่า “ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริง หมดจากกิเลสแล้ว”
หลวงปู่ได้ยกประสบการณ์ในครั้งนั้นมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนศิษย์ว่า “ระวังอย่าได้ไปหลงนิมิตเช่นนี้เพราะมันวิเศษจริงๆ ผู้ปฏิบัติทางจิตชอบจะมาติดอยู่เพียงแค่นี้ แล้วสำคัญตนผิด....เราเองก็เป็นมาแล้วและมันก็น่าจะหลงไหล เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์มาก ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ก็คือความเป็นเช่นนี้”
หลังจากที่หลวงปู่รู้ตัวว่าหลงไปตามนิมิตต่างๆแล้ว ท่านกับมากำหนดกายคตา จิตได้เข้าฐาน ปรากฏว่าได้เลิกหนังของตนออกหมดแล้วแหวะในกายพิจารณาทบทวนในร่างกายอย่างละเอียดแล้วพักจิต (มิใช่พิจารณากายไปโดยไม่หยุดพัก) ขณะที่พักก็รู้ว่าปัญญาได้เกิดขึ้นพอควร มีอาการไม่ตื่นเต้น ไม่หวั่นไหว จึงได้เปล่งอุทานว่า “นี่แหละจึงจัดว่ารวมถูก เพราะไม่ใช่จิตรวมสงบแล้วก็อยู่เฉยที่สงบนั้น ต้องสงบแล้วพิจารณาอยู่ในกัมมัฏฐาน คืออยู่ในการพิจารณาดูตัวทุกข์คือกายนี้เป็นตัวทุกข์และให้เห็นทุกข์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าดำเนินจิตอยู่ในองค์มรรค ฯลฯ เราจะต้องตรวจค้นให้รู้จริงเห็นจริงอยู่ที่กายกับจิตเท่านั้น จึงจะถูกอริยมรรคปฏิปทา”
มีครั้งหนึ่ง ปรากฏในนิมิตว่าร่างกายของท่านแตกออกเป็นสองภาค ท่านกำหนดจิตให้นิ่งจนเกิดความสังเวชสลดใจเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด จึงถือเอาหลักที่ทำมาเป็นการเริ่มต้นเพราะมั่นใจว่าปฏิบัติถูกต้อง เป็นทางดำเนินจิตของท่านต่อไป
การปฏิบัติภาวนาในช่วงที่อยู่วัดเลียบแม้จะก้าวหน้าไปโดยลำดับแต่หลวงปู่มั่นตระหนักว่า “ยังไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่” ท่านจึงได้ออกธุดงค์เข้าป่าเพียงลำพังองค์เดียวไปทางนครราชสีมาเข้าดงพญาเย็น แสวงวิเวกไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณน้ำตกสาริกา จังหวัดนครนายกเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ เป็นสถานที่น่าประหลาดสำหรับพระธุดงค์ หลวงปู่มุ่งหน้าสู่ถ้ำไผ่ขวาง ชาวบ้านได้ทัดทานไว้เนื่องจากมีพระธุดงค์ไปมรณภาพที่ถ้ำแห่งนั้นถึง 6 องค์แล้ว แต่หลวงปู่ตอบชาวบ้านว่า “ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีความเด็ดเดี่ยวปฏิบัติธรรมมุ่งมั่นไม่กลัวตาย หากแต่กลัวกิเลสที่ย่ำยีจิตใจให้รุ่มร้อนมากกว่า ถ้ำแห่งนั้นเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่โตนัก มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว ยิ่งตอนพลบค่ำยิ่งวังเวง แต่หลวงปู่ท่านเคยชินกับสภาพเช่นนั้นมากแล้ว จึงไม่มีอะไรทำให้จิตใจของท่านหวั่นไหวได้หลังจากจัดแจงสถานที่และเดินดูรอบๆบริเวณแล้ว พอค่ำลงสนิทท่านก็เริ่มบำเพ็ญภาวนาโดยนั่งสมาธิตลอดคืน ปรากฏว่าสว่างไสวไปหมดนับเป็นนิมิตที่ดียิ่ง
รุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่ก็ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านไร่นั้น หลังจากฉันแล้ว ท่านก็พักกลางวันไปสักหนึ่งชั่วโมง พอลุกขึ้นรู้สึกตัวหนักไปหมด หนำซ้ำเกิดท้องร่วงอย่างแรง เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่าอาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อยเลย ข้าวสุกยังเป็นเม็ด อาหารที่ทานเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิม ท่านจึงเข้าใจว่าพระองค์ก่อนๆ ที่มรณภาพไปก็คงเป็นเพราะเหตุนี้เองได้รำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น”
หลวงปู่ได้หาที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ”
ตั้งแต่บัดนั้นหลวงปู่ได้ตั้งปฏิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้ง เห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด” หลวงปู่ได้นั่งสมาธิ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนโดยไม่ลืมตาเลย ท่านเริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินมาครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นอย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาทุกอย่างที่ผ่านมาก็แจ้งประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบันหมด
ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านได้พิจารณาไคร่ครวญดูว่าทำไมจึงมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขหลายชาติ”
เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า ภพ คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องวนเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป
เมื่อหลวงปู่ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็เกิดความสลดจิตเป็นอย่างมาก ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน ซึ่งมีในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้เอง แล้วเมื่อไรจะได้ถึงคิวเป็นพระพุทธเจ้าตามความปรารถนา”
หลวงปู่ได้พิจารณาถึงภพชาติในอดีต ปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮีในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้ไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ซึ่งเป็นเสนาบดีในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้า เช่นพระองค์เถิด” ได้ความว่าหลวงปู่ได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น
หลังจากได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้หยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ แล้วตั้งใจเพื่อการบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน
และในปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่ได้นิมิตว่า “ได้เดินไปตามทางซึ่งโล่งเตียน สะอาด มีพระภิกษุสามเณรเดินตามไปเป็นจำนวนมาก ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไป เดินไปปรากฏว่าพระภิกษุ สามเณรเหล่านั้น ทั้งพระเถระผู้ใหญ่และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป”
หลวงปู่ได้อธิบายนิมิตของท่านว่า “ในการต่อไปข้างหน้า จะมีผู้นิยมทำกรรมฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนากันมากจะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานภาวนามาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่ดีเท่าที่ควร” “แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่ นี่มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินการของเรานั้น ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจมุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิทานี้ ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การที่ต่างคนต่างตั้งตนเป็นอาจารย์นั้น ย่อมทำให้เสียผลเพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก”

อาจารย์สอนธรรม
หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมีผู้เคารพนับถือมาก หลวงปู่มีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระเถระ อาทิ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม)
หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี)
หลวงปู่ขาว อนาลโย
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ
หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
พระวิสุทธิญาณเถระ (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (หลวงปู่วัน อุตฺตโม)
พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร)
พระมงคลวุฒ (หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท)
พระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
หลวงปู่ผินะ ปิยธโร
หลวงปู่สนธิ์ สุมโณ
พระครูญาณวิสิทธิ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)
หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
พระอริยเวที (พระอาจารย์มหาเขียน ฐิตสีโล)
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต
หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นต้น
หลวงปู่มั่นได้รับ สมัญญานามจากบรรดาศิษย์ว่า "พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" เป็นผู้มีประวัติงดงาม เป็นฐานที่พึ่งอันมั่นคงตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดเวลาในเพศบรรพชิต ได้ปฏิบัติตนจนกระทั่งเป็น แบบอย่างที่ดี อันจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]
หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ79 ปี 56 พรรษา ณวัดป่าสุทธาวาส ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆที่ได้ส่งตัวแทนมารับ





เฟสบุ๊คเพื่อสนทนาปัญหาธรรมะและเผยแผ่ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และโอวาทธรรม คำสอน พ่อแม่ครูอาจารย์พระอรหันต์ครับ
ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด จงอย่าช้ารีบเร่งทำความดี


www.facebook.com/groups/226951157350091

ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ต่อไปนี้จะเริ่มเขียนปฏิปทาเครื่องดำเนิน คือ ข้อปฏิบัติของพระกรรมฐานที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนินมา เพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบไว้บ้างพอเป็นแนวทาง โดยคิดว่าท่านพุทธศาสนิกชน พระเณรทั้งหลายที่มีความสนใจใคร่ธรรมและข้อปฏิบัติประจำนิสัย อาจมีความสนใจอยากทราบอยู่มาก จึงได้พยายามรวบรวมมาลงไว้เท่าที่สามารถ ผิดถูกประการใด หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้อ่านตามเคย คราวนี้ก็ส่งมาลงทาง “ศรีสัปดาห์” ตามเคย โดยขอร้องให้ทางโรงพิมพ์ช่วยลงให้เป็นตอนๆ ไปดังที่เคยทำมา และได้เรียนกำชับขอให้ลงพอประมาณ เกรงจะเขียนส่งมาไม่ทัน ดังที่เคยเรียนเกี่ยวกับประวัติท่านพระอาจารย์มาแล้ว การส่งมา ขอความกรุณาทาง “ศรีสัปดาห์” ให้ช่วยลงให้นั้น เป็นอุบายช่วยบังคับตัวเองซึ่งมีนิสัยขี้เกียจไปในตัว เพื่อเรื่องที่เขียนจะได้สำเร็จไปด้วยดี ไม่มีข้อแก้ตัวว่ายุ่งนั้นยุ่งนี้แล้วหยุดไปเสีย ซึ่งอาจทำให้งานที่กำลังทำเสียไป ตามปกติหนังสือศรีสัปดาห์เคยออกทุกวันศุกร์ จึงพอมีทางว่าการเขียนจะมีความรู้สึกตัวพยายามทำให้ทันกับกำหนดวันเวลาที่หนังสือจะออก เรื่องที่เขียนก็พลอยมีหวังจะสำเร็จได้ จึงได้ส่งและขอร้องทางศรีสัปดาห์ให้ช่วยลงให้จนกว่าเรื่องจะยุติลง ซึ่งทางศรีสัปดาห์ก็ยินดีให้เป็นไปตามความประสงค์ทุกประการ
คำว่า “กรรมฐาน” เป็นศัพท์พิเศษและเป็นบทธรรมพิเศษที่วงพระธุดงค์ท่านปฏิบัติกันมา แต่องค์ของกรรมฐานแท้นั้นมีอยู่กับทุกคน ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งนักบวชและฆราวาส ได้แก่ เกศา โลมา เป็นต้น บางท่านอาจยังไม่เข้าใจในคำว่า กรรมฐาน หรือพระธุดงคกรรมฐาน ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่จะเขียนเฉพาะข้อปฏิบัติแห่งธุดงคกรรมฐานสายของท่านพระอาจารย์มั่น นอกจากนี้ผู้เขียนไม่ค่อยสันทัดจัดเจนนักว่าท่านปฏิบัติกันอย่างไรบ้าง เป็นเพียงเห็นๆ ผ่านๆ ไปบ้างเท่านั้น ไม่ค่อยมีโอกาสได้สนใจใกล้ชิดนัก เฉพาะสายของท่านอาจารย์มั่นพาดำเนินมานั้น พอเข้าใจบ้างตามที่เคยได้เห็นได้ยินและปฏิบัติมา แต่ก่อนจะเขียนเรื่องนี้ จึงขออธิบายคำว่ากรรมฐานอันเป็นทางดำเนินของท่านพอเป็นแนวทางเล็กน้อย เพื่อเข้ารูปกันกับปฏิปทาที่จะเขียนต่อไป
คำว่า กรรมฐาน นี้ เป็นคำชินปากชินใจของชาวพุทธเรามานาน เมื่อถือเอาใจความ ก็แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน แต่งานในที่นี้เป็นงานสำคัญ และหมายถึงงานรื้อภพรื้อชาติรื้อกิเลสตัณหา รื้อถอนอวิชชาทั้งมวลออกจากใจ เพื่อไกลทุกข์ คือความเกิดแก่เจ็บตาย อันเป็นสะพานเกี่ยวโยงของวัฏวนที่สัตว์โลกข้ามพ้นได้โดยยาก มากกว่าจะมีความหมายไปทางอื่นแบบงานของโลกที่ทำกัน ส่วนผลที่พึงได้รับแม้ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็ทำให้ผู้บำเพ็ญมีความสุขในปัจจุบันและภพชาติต่อไป ฉะนั้นพระที่สนใจปฏิบัติธรรมเหล่านี้ จึงมักมีนามว่าพระธุดงคกรรมฐานเสมอ อันเป็นคำชมเชยให้เกียรติท่านผู้มุ่งต่องานนี้ด้วยใจจริงจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
กรรมฐาน ที่เป็นธรรมจำเป็นมาแต่พุทธกาลที่พระอุปัชฌาย์มอบให้แต่เริ่มบรรพชาอุปสมบท มี ๕ อาการด้วยกันโดยสังเขป คือ เกศาได้แก่ผม โลมาได้แก่ขน นขาได้แก่เล็บ ทันตาได้แก่ฟัน ตโจได้แก่หนัง โดยอนุโลมปฏิโลม เพื่อกุลบุตรผู้บวชแล้วได้ยึดเป็นเครื่องมือบำเพ็ญพิจารณาถอยหน้าถอยหลังซ้ำซากไปมา จนมีความชำนิชำนาญและแยบคายในอาการหนึ่งๆ หรือทั้งห้าอาการ อันเป็นชิ้นส่วนสำคัญของร่างกายชายหญิงทั่วๆ ไป แต่คำว่ากรรมฐานอันเป็นอารมณ์ของจิตนั้นมีมาก ท่านกล่าวไว้ถึง ๔๐ อาการ ซึ่งมีในตำราโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ท่านผู้ประสงค์อยากทราบกรรมฐานใดก็ค้นหาดูได้โดยสะดวก บรรดากรรมฐานที่ท่านกล่าวไว้มากมายนั้น ข้อใหญ่ใจความก็เพื่อท่านผู้สนใจใคร่ต่อการปฏิบัติซึ่งมีจริตนิสัยต่างๆ กัน จะได้เลือกปฏิบัติเอาตามใจชอบที่เห็นว่าถูกกับจริตของตนๆ เช่นเดียวกับโรคมีชนิดต่างๆ กัน ที่ควรแก่ยาขนานต่างๆ กันฉะนั้น
วิธีทำได้แก่ การนำธรรมบทนั้นๆ มาบริกรรมภาวนาประจำอิริยาบถต่างๆ ตามแต่ถนัดและเห็นควร ว่าเกศา ๆ หรือโลมา ๆ เป็นต้น ด้วยความมีสติกำกับอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยใจส่งไปที่อื่น ทำความรู้สึกตัวอยู่กับบทธรรมที่กำลังบริกรรมภาวนา ไม่เปลี่ยนแปลงธรรมบ่อยอันเป็นนิสัยจับจด พยายามทำไปจนทราบชัดว่าเป็นผลขึ้นมาจริงๆ หรือจนทราบชัดว่าธรรมบทนั้นๆ ไม่ต้องกับจริตของตนแล้วค่อยเปลี่ยนธรรมบทใหม่ ผู้ที่ทราบชัดว่าถูกกับจริตจริงๆ แล้ว ก็ควรยึดธรรมนั้นเป็นหลักใจและปฏิบัติต่อไปไม่ลดละ จนเห็นผลเป็นลำดับและก้าวหน้าเข้าสู่ภูมิธรรมที่ควรเปลี่ยนแปลงบทธรรมตามความจำเป็น ซึ่งเจ้าตัวต้องทราบโดยลำพัง ผลที่เกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญด้วยธรรมเหล่านี้ หรือด้วยธรรมอย่างอื่นๆ ที่ถูกกับจริต ย่อมเป็นความสงบสุขภายในใจไปโดยลำดับที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน
ความสงบจิตเริ่มแต่ชั้นต่ำ คือสงบได้ชั่วขณะ สงบได้นานพอประมาณ และสงบได้ตามต้องการที่จะให้พักและถอนขึ้นมา ทั้งเป็นความสงบละเอียดแนบแน่นกว่ากันมาก ขณะที่จิตสงบย่อมปล่อยอารมณ์ที่เคยรบกวนต่างๆ เสียได้ เหลือแต่ความรู้ความสว่างไสวประจำใจ และความสุขอันเกิดจากความสงบตามขั้นของใจเท่านั้น ไม่มีสองกับสิ่งอื่นใด เพราะขณะนั้นจิตปราศจากอารมณ์และเป็นตนของตนอยู่โดยลำพัง แม้กิเลสส่วนละเอียดยังมีอยู่ภายในก็ไม่แสดงตัว ถ้าเป็นน้ำก็กำลังนิ่งและใสสะอาดปราศจากฝุ่นละออง หากมีตะกอนก็กำลังนอนนิ่งไม่ทำน้ำให้ขุ่น ควรแก่การอาบดื่มใช้สอยทุกประการ ใจที่ปราศจากอารมณ์มีความสงบตัวอยู่โดยลำพังนานเพียงไร ย่อมแสดงความสุข ความอัศจรรย์ ความสำคัญ ความมีคุณค่ามาก ให้เจ้าของได้ชมนานและมากเพียงนั้น ทั้งเป็นความสำคัญและความอัศจรรย์ไม่มีวันเวลาจืดจางแม้เรื่องผ่านไปแล้ว
ทั้งนี้เพราะใจเป็นธรรมชาติลึกลับและอัศจรรย์ภายในตัวอยู่แล้ว เมื่อถูกชำระเข้าถึงตัวจริงเพียงขณะเดียว ก็แสดงความอัศจรรย์ให้รู้เห็นทันที และยังทำให้เกิดความอาลัยเสียดายต่อความเป็นของจิตไปนาน ถ้าปล่อยให้หลุดมือคือเสื่อมไปโดยไม่ได้กลับคืนด้วยวิธีบำเพ็ญให้ทรงตัวอยู่หรือให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมังที่ครั้งพุทธกาลมีพระสาวกบางองค์ ขณะท่านกำลังบำเพ็ญอยู่ ใจมีความเจริญขึ้นและเสื่อมลงถึงหกครั้ง จนเกิดความเสียใจมากเพราะความอาลัยเสียดาย แต่สุดท้ายท่านก็เป็นพระสาวกอรหันต์ขึ้นมาองค์หนึ่งจนได้ เพราะความเพียรพยายามเป็นสะพานเชื่อมโยงให้บรรลุถึงอมตธรรม คือแดนแห่งความเกษม โดยอาศัยกรรมฐานธรรมเป็นเครื่องดำเนิน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่นับจำนวนไม่ได้ และพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่เสด็จปรินิพพานผ่านไปแล้วจนประมาณกาลไม่ได้ก็ดี พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ที่เสด็จปรินิพพานและนิพพานไปพอประมาณกาลได้ก็ดี พระพุทธเจ้าสมณโคดมกับพระสาวกท่านที่เพิ่งเสด็จผ่านไปไม่กี่พันปีก็ดี ล้วนทรงอุบัติและอุบัติขึ้นเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นพระอรหันต์จากกรรมฐานทั้งหลาย มีกรรมฐานห้าเป็นต้นทั้งสิ้น ไม่มีแม้พระองค์หรือองค์เดียวที่ผ่านการรู้ธรรมมาโดยมิได้ผ่านกรรมฐานเลย
แม้จะพูดว่ากรรมฐานเป็นสถานที่อุบัติขึ้นแห่งท่านผู้วิเศษทั้งหลายก็ไม่ควรจะผิด เพราะก่อนจะทรงถ่ายพระรูปพระนามและรูปนามจากความเป็นปุถุชน ขึ้นมาเป็นพระอริยะบุคคลเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นสูงสุด ต้องมีกรรมฐานธรรมเป็นเครื่องซักฟอก เป็นเครื่องถ่ายถอนความคิดความเห็นความเป็นต่างๆ อันเป็นพื้นเพของจิตที่มีเชื้อวัฏฏะจมอยู่ภายในให้กระจายหายสูญไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นพระทัยและใจดวงใหม่ขึ้นมาเป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ ดังนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงทรงถือกรรมฐานว่าเป็นธรรมทั้งสำคัญและจำเป็น และยกย่องในวงพระศาสนาประจำศาสดาแต่ละพระองค์ตลอดมาถึงปัจจุบัน แม้ในศาสนาแห่งพระสมณโคดมของพวกเรา ก็ทรงถือกรรมฐานเป็นแบบฉบับและจารีตประเพณีตายตัวมาเป็นพระองค์แรก ว่าได้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเพราะกรรมฐาน ๔๐ มีอานาปานสติเป็นต้น และทรงสั่งสอนพุทธบริษัทตลอดมาจนปัจจุบันทุกวันนี้ ทั้งยังจะเป็นสะพานเชื่อมโยงให้สัตว์โลกได้ถึงพระนิพพานตลอดไป จนกว่าจะสิ้นอำนาจวาสนาของมวลสัตว์ที่จะตามเสด็จพระองค์ได้นั่นแล
ฉะนั้น คำว่า “กรรมฐาน” จึงเป็นธรรมพิเศษในวงพระศาสนาตลอดมาและตลอดไป ผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่ยังมิได้ปฏิบัติบำเพ็ญตามทางกรรมฐาน พอทราบเรื่องความลี้ลับที่มีอยู่ในตนทั้งฝ่ายชั่วฝ่ายดีบ้างพอควร จึงไม่ควรคิดว่าตนรู้ตนฉลาดโดยถ่ายเดียว แม้จำได้จากพระไตรปิฎกโดยตลอดทั่วถึง เพราะนั่นเป็นเพียงบัญชีดีชั่วของสิ่งหรือธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเท่านั้น ยังไม่ได้รับการเลือกเฟ้นจากการปฏิบัติอันมีกรรมฐานเป็นเครื่องส่องทางให้ถึงความจริง ตามพระประสงค์ที่ทรงประกาศธรรมสอนโลก พระกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี่แลคือตู้พระไตรปิฎก คือเครื่องมือทำลายภพชาติ เครื่องมือทำลายกงจักรที่พาให้สัตว์โลกหมุนเวียนเกิดตายจนไม่ทราบภพเก่าภพใหม่ และทุกข์เก่าทุกข์ใหม่ที่สลับซับซ้อนมากับภพชาตินั้นๆ ให้ขาดสะบั้นลงโดยสิ้นเชิง
การปฏิบัติใดก็ตามที่ปราศจากธรรมเหล่านี้ส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าสนับสนุน การปฏิบัตินั้นจะไม่เป็นไปเพื่อการทำลายสังหารกิเลสกองทุกข์มากน้อยที่มีอยู่ภายใน ให้เบาบางและสิ้นสูญไปได้เลย การปฏิบัติที่มีธรรมเหล่านี้เข้าสนับสนุนอยู่มากน้อยเท่านั้น จะทำลายกองทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีทางสงสัย ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติเพื่อความสงบสุขและความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย จำต้องยึดถือธรรมเหล่านี้เป็นเส้นชีวิตจิตใจของการดำเนินปฏิปทาไปตลอดสาย นับแต่ธรรมขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุดคือ วิมุตติพระนิพพาน ใครจะปฏิบัติบำเพ็ญความดีงามด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เมื่อถึงขั้นจะเข้าด้ายเข้าเข็มจริงๆ คือการก้าวขึ้นสู่ภูมิจิตภูมิธรรมเป็นขั้นๆ จำต้องหวนกลับมายึดธรรมเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องดำเนิน จึงจะผ่านพ้นไปได้โดยสวัสดีปลอดภัย
เพราะธรรมเหล่านี้เป็นที่ประมวลมาแห่งสัจธรรมทั้งหลาย ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นจุดสุดยอด ธรรมเหล่านี้รวมอยู่ในวงพระพุทธศาสนา มีศาสดาองค์เอกแต่ละพระองค์ทรงประกาศสอนไว้เป็นแบบเดียวกันและสืบทอดกันมาเป็นลำดับ ท่านที่ยังสงสัยพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ทรงประกาศสอนธรรมมาเป็นยุคๆ จนถึงศาสดาองค์ปัจจุบันคือพระพุทธเจ้าของเรา จึงควรปฏิบัติพิจารณาตามธรรมกรรมฐานที่ทรงแสดงไว้ ด้วยความพิสูจน์จริงๆ ทางปัญญาจนเกิดผลตามพระประสงค์ ก็จะทราบจากความรู้ความเห็นอันเกิดจากการปฏิบัติของตนเองอย่างประจักษ์ใจว่า ศาสดากับธรรมมิได้แตกต่างกัน แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังแก่นธรรมที่ทรงแสดงไว้ย่อๆ ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต” ดังนี้
ธรรมบทนี้เป็นธรรมประกาศองค์พระตถาคตทั้งหลาย ให้เราทราบอย่างชัดเจนว่าพระตถาคตมีอยู่กับธรรมตลอดเวลา มิได้ขึ้นอยู่กับกาลสถานที่ แม้แต่ละพระองค์จะเสด็จปรินิพพานไปนานตามสมมุตินิยมกันก็จริง แต่ความจริงขององค์พระตถาคตแล้วคือธรรมนี้เท่านั้น บรรดาท่านที่เห็นธรรมภายในใจอย่างแจ้งประจักษ์แล้ว ท่านมิได้สงสัยในองค์พระตถาคตเลยว่าประทับอยู่ในที่เช่นไร ซึ่งโลกเข้าใจว่าท่านเสด็จเข้าสู่นิพพานหายเงียบไปแล้ว ไม่มีศาสดาผู้คอยเมตตาสั่งสอนต่อไป ความจริงธรรมที่ทรงประสิทธิ์ประสาทไว้แล้วแก่หมู่ชนก็คือองค์ศาสดาเราดีๆ นั่นแล ถ้าสนใจอยากมีศาสดาภายในใจ ก็มีได้ทุกเวลาเช่นเดียวกับที่ยังทรงพระชนม์อยู่
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำใจที่จะเคารพนับถือ และเชื่อฟังธรรมที่เป็นองค์แทนท่านเป็นสำคัญกว่าอื่น แม้ท่านยังทรงพระชนม์อยู่ ถ้าขาดความสนใจเสียเพียงอย่างเดียว ท่านก็ช่วยอะไรไม่ได้ คงเป็นประเภทอนาถาอยู่ตามเคย ไม่มีอะไรดีขึ้น เพื่อความไม่เดือดร้อนในภายหลัง และเพื่อความอบอุ่นใจทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงควรปฏิบัติบำเพ็ญตนด้วยธรรมที่ประทานให้เป็นมรดกแทนพระองค์ ผลจะเป็นเช่นเดียวกับที่ยังทรงพระชนม์อยู่ทุกประการ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือจะมีธรรมคือศาสดาประจำใจอยู่ตลอดเวลา
ได้พร่ำกรรมฐานมายืดยาวจนท่านผู้อ่านเอือมไปตามๆ กัน จึงขออภัยอีกครั้งในความไม่พอดีของตนที่พร่ำไปบ้าง ก็คิดว่าท่านที่ยังไม่เข้าใจในคำว่ากรรมฐานเท่าที่ควรก็อาจมี และอาจจะเข้าใจและทราบวิธีปฏิบัติไว้บ้าง เมื่อถึงวาระที่คิดอยากบำเพ็ญจะได้สะดวก
บัดนี้จะเริ่มเรื่องปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ ที่ท่านอาจารย์มั่นพาคณะลูกศิษย์ดำเนินมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติตามปฏิปทานี้รู้สึกลำบากเพราะเป็นการทวนกระแสโลกทั้งทางกายทางวาจาและทางใจ หลักปฏิปทาก็มีธุดงค์ ๑๓ ขันธวัตร ๑๔ มีอาคันตุกวัตรเป็นต้น เป็นเครื่องบำเพ็ญทางกายโดยมาก และมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นเครื่องบำเพ็ญทางใจ สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปในอิริยาบถต่างๆ ของความเพียร ท่านที่สมัครใจเป็นพระธุดงคกรรมฐาน จำต้องเป็นผู้อดทนต่อสิ่งขัดขวางต้านทานต่างๆ ที่เคยฝังกายฝังใจจนเป็นนิสัยมานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ละได้ยาก แต่ก็จำต้องพยายามละไม่หยุดหย่อนอ่อนกำลัง เพราะเพศของนักบวชกับเพศฆราวาส มีความเป็นอยู่ต่างกัน ตลอดความประพฤติมรรยาท ความสำรวมระวังต่างๆ ต้องเป็นไปตามแบบหรือประเพณีของพระซึ่งเป็นเพศที่สงบงามตา
ผู้เป็นพระธุดงค์จึงควรมีความเข้มงวดกวดขันในข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ตนและเป็นที่น่าชื่นชมเลื่อมใสแก่ผู้อื่น เพราะธุดงควัตร ๑๓ และวัตรต่างๆ ตลอดกรรมฐานทั้งมวล ล้วนเป็นธรรมเครื่องดัดนิสัยความดื้อด้านของคนเราโดยตรง พระก็ออกมาจากฆราวาส นิสัยนั้นต้องติดตัวมาด้วย ถ้าไม่มีเครื่องดัดแปลงหรือทรมานกันบ้าง ก็คงไม่พ้นการบวชมาทำลายตัวและวัดวาศาสนาให้ฉิบหายล่มจมลงอย่างไม่มีปัญหา เพราะปกตินิสัยของมนุษย์เราโดยมาก ชอบเบียดเบียนและทำลายตนและผู้อื่นด้วยวิธีต่างๆ อยู่เสมอ โดยไม่จำต้องอาศัยเจตนาเสมอไป เนื่องจากความชินต่อนิสัย เพราะความทะเยอทะยานอยากต่าง ๆ พาให้เป็นไป หรือเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็สุดจะคาดเดาถูก จึงพลอยมีความทุกข์เดือดร้อนติดตัวประจำอิริยาบถอยู่เสมอ ไม่ค่อยมีความสุขกายสุขใจได้นานเท่าที่อยากมี
คำว่าเบียดเบียนหรือทำลายตนนั้น ได้แก่ความคิดนึกต่างๆ ที่เป็นภัยแก่ตนโดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าผิดก็มี ที่รู้ว่าผิดก็มี และเป็นชนวนให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จนถึงระบาดออกทางกายวาจา เรียกว่าความเบียดเบียนทำลายทั้งสิ้น
จะเขียนเรื่องพระปฏิบัติที่กำลังอยู่อบรมกับท่านก่อน แล้วจึงจะเขียนเรื่องการแยกย้ายของท่านที่ออกไปปฏิบัติอยู่โดยลำพังต่อไปตามลำดับ
ท่านที่เริ่มมาศึกษาและปฏิบัติกรรมฐานในสำนักท่านอาจารย์มั่น ตามปกติท่านสอนให้เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในทุกกรณีที่เป็นหน้าที่ของพระจะพึงทำ สอนให้เป็นคนหูไวตาไวก้นเบาลุกง่ายไปเร็วไม่อืดอาดเนือยนาย สอนให้เป็นคนฉลาดช่างคิดในกิจนอกการในเพื่ออรรถธรรมในแง่ต่างๆ ไม่อยู่เฉยๆ เหมือนคนสิ้นท่า ความเคลื่อนไหวไปมามีสติอยู่กับตัว สอนให้เป็นคนละเอียดลออในทุกกรณี การภาวนาท่านเริ่มสอนแต่กรรมฐานห้าเป็นต้นไป ตลอดถึงกรรมฐานอื่นๆ ตามแต่อาการใดจะเหมาะกับจริตนิสัยของผู้มาอบรมศึกษาเป็นรายๆ ไป ขณะฟังการอบรมก็ทำสมาธิภาวนาไปด้วยในตัว บางรายขณะนั่งฟังการอบรม จิตเกิดความสงบเย็นเป็นสมาธิขึ้นมาทั้งที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่เริ่มฝึกหัด เพิ่งมาเป็นในขณะนั้นก็มี
พระเณรมีจำนวนมากที่เข้าไปรับการอบรม ต่างเกิดผลจากสมาธิภาวนาขณะที่นั่งฟังการอบรมในแง่ต่าง ๆ กันขึ้นมาตามจริตนิสัย ไม่ค่อยตรงกันไปทีเดียว ความรับการอบรมจากท่านเป็นอุบายกล่อมเกลาจิตใจของผู้ฟังได้ดี ทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญาเป็นขั้นๆ ผู้ที่ยังไม่เคยมีความสงบก็เริ่มสงบ ผู้เคยสงบบ้างแล้วก็เพิ่มความสงบไปทุกระยะที่ฟัง ผู้มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วก็ทำให้ฐานนั้นมั่นคงขึ้นโดยลำดับ ผู้เริ่มใช้ปัญญาการอบรมก็เป็นอุบายปัญญาช่วยไปด้วยเป็นระยะ ผู้มีภูมิปัญญาเป็นพื้นอยู่แล้ว ขณะฟังการอบรมก็เท่ากับท่านช่วยบุกเบิกอุบายสติปัญญา ให้กว้างขวางลึกซึ้งลงไปทุกระยะเวลา ออกจากที่อบรมแล้วต่างองค์ต่างปลีกตัวออกบำเพ็ญอยู่ในสถานที่และอิริยาบถต่างๆ กัน
การพักผ่อนหลับนอนไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใดๆ จากท่าน ปล่อยให้เป็นความสะดวกเหมาะสมของแต่ละรายจะปฏิบัติต่อตัวเอง ทั้งนี้เพราะธาตุขันธ์และความเพียร ตลอดความหมายมั่นปั้นมือต่อธรรมในแง่ต่างๆ มีหนักเบามากน้อยต่างกัน บางรายกลางคืนมีเวลาพัก บางรายพักนอนบ้างตอนกลางวัน แต่กลางคืนเร่ง พักหลับนอนน้อยหรือไม่พักหลับเลยในบางคืนความเพียรมาก จึงปล่อยให้เป็นความสะดวกสำหรับตัวเองแต่ละรายไป ที่จะพักผ่อนหลับนอนหรือประกอบความเพียรในเวลาใด
แนวทางดำเนินในสายท่านอาจารย์มั่น กรรมฐาน ๕ และธุดงค์ ๑๓ ท่านถือเป็นสำคัญมาก จะเรียกว่าเป็นเส้นชีวิตของพระธุดงค์สายของท่านก็ไม่ผิด ใครเข้าไปรับการอบรมกับท่าน ท่านต้องสอนกรรมฐานและธุดงควัตรให้ในเวลาไม่นานเลย ถ้าเป็นหน้าแล้งท่านมักจะสอนให้ไปอยู่รุกขมูลร่มไม้เสมอ ว่าโน้นต้นไม้ใหญ่มีใบดกหนา น่าร่มเย็นสบาย ภาวนาสะดวก อากาศก็ดี ปราศจากความพลุกพล่านวุ่นวายจากสิ่งภายนอก โน้นภูเขาเป็นที่เปิดหูเปิดตาเพื่อร่าเริงในธรรม โน้นถ้ำ โน้นเงื้อมผา เป็นที่น่าอยู่น่าบำเพ็ญเพียรหาความสงบสุขทางใจ โน้นป่าชัฏ เป็นที่กำจัดความเกียจคร้านและความหวาดกลัวต่างๆ ได้ดี คนเกียจคร้านหรือคนขี้ขลาดควรไปอยู่ในที่เช่นนั้น จะได้ช่วยพยุงความเพียรให้ขยันเสียบ้าง และช่วยกำจัดความกลัวเพื่อความกล้าหาญขึ้นบ้าง ไม่หนักและกดถ่วงจิตใจจนเกินไป
ภูเขาลูกโน้น ถ้ำโน้น เงื้อมผาโน้น อากาศดี ภาวนาสะดวก จิตรวมลงสู่ความสงบได้ง่าย เมื่อจิตสงบแล้ว มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกๆ ลึกลับได้ดีเกินกว่าสายตาสามัญจะรู้เห็นได้ ภูเขาลูกนั้น ถ้ำนั้น เงื้อมผานั้น มีสิ่งนั้นๆ อยู่ทางทิศนั้นๆ ผู้ไปอยู่ควรระวังสำรวม ไม่ควรประมาทว่าปราศจากผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่เห็นๆ และได้ยินแล้ว จะไม่มีอะไรอื่นอีก สิ่งลึกลับเกินกว่าสามัญจิตจะรู้เห็นได้ยังมีอีกมากมาย และมากกว่าวัตถุที่มีเกลื่อนอยู่ในโลกนี้เป็นไหนๆ เป็นเพียงไม่มีสิ่งที่ควรแก่สิ่งเหล่านั้นจะแสดงความมีออกมาอย่างเปิดเผยเหมือนสิ่งอื่นๆ เท่านั้น จึงแม้มีอยู่มากน้อยเพียงไรก็เป็นเหมือนไม่มี ผู้ปฏิบัติจึงควรสำรวมระวังในอิริยาบถต่างๆ อย่างน้อยก็เป็นผู้สงบเย็นใจ ยิ่งกว่านั้นก็เป็นที่ชื่นชมยินดีของพวกกายทิพย์ทั้งหลายที่มีภพภูมิต่างๆ กัน อาศัยอยู่ในแถบนั้นและที่อื่นๆ
เพราะโลกไม่ว่างจากมวลสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งหยาบและละเอียด แม้ในกายคนกายสัตว์ก็ยังมีสัตว์ชนิดต่างๆ อาศัยอยู่ นักปฏิบัติเพื่อเสรีภาพแก่สภาวธรรมทั้งหลายทั่วไตรภพ จึงไม่ควรรับรองและปฏิเสธในสิ่งที่ตนรู้ตนเห็นว่ามีว่าจริง และว่าไม่มีไม่จริงเพียงเท่านั้น แม้แต่วัตถุทั้งหยาบทั้งละเอียดซึ่งมีอยู่ เรายังไม่สามารถรู้เห็นโดยทั่วถึง บางทียังโดนสิ่งต่างๆ จนตกบ้านตกเรือนแตกยับไปหมดก็ยังมีประจำนิสัยมนุษย์ผู้ชอบหยิ่งในตัว ขณะที่เดินซุ่มซ่ามเซอะซะไปโดนสิ่งของด้วยความไม่มีสตินั้น เจ้าตัวต้องเข้าใจว่าอะไรไม่มีอยู่ในที่นั้น แต่สิ่งที่ถูกปฏิเสธว่าไม่มีอยู่ในที่นั้นและในขณะนั้น ทำไมจึงถึงกับแตกฉิบหายไปได้ เพียงเท่านี้ก็พอพิสูจน์ตัวเองได้ดีว่ามีนิสัยสะเพร่าเพียงไรถ้าจะพิสูจน์ นอกจากจะไม่ยอมพิสูจน์และปล่อยให้เรื้อรังไปตลอดกาลเท่านั้น ก็หมดหนทางที่จะทราบความจริงที่มีอยู่ในโลกและธรรมทั่วๆ ไป
ภูเขาลูกโน้น ถ้ำโน้น และเงื้อมผาโน้น ผมเคยพักบำเพ็ญมาแล้ว เป็นที่จับใจไร้กังวลกับเรื่องเกลื่อนกล่นวุ่นวายทั้งหลาย ถ้าพวกท่านมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์อย่างถึงใจ ก็ควรแสวงหาที่เช่นนั้นเป็นที่อยู่ที่บำเพ็ญ และที่ฝากเป็นฝากตายกับธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นดังองค์ของศาสดาเสด็จมาประทับอยู่ในที่เฉพาะหน้าทุกอิริยาบถ หลับและตื่นจะเป็นสุข ความเพียรทางใจก็ก้าวหน้า ไม่ชักช้าล่าถอยเหมือนที่เกลื่อนกล่นวุ่นวายทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ท่านทรงพลีและพลีชีพเพื่อธรรมในสถานที่ดังกล่าวนั่นแล นอกจากผู้ไม่เห็นโทษของกิเลสตัณหาวัฏสงสาร เพลินเที่ยวจับจองป่าช้าความเกิด–ตายแบบไม่มีจุดหมายปลายทางเท่านั้น จะไม่ยินดีในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านทรงยินดี
โน้นป่าช้าป่าชัฏ ไปอยู่ในป่าเช่นนั้นกับพวกชาวป่าชาวเขาโน้น เป็นสถานที่อำนวยความเพียรทุกด้าน เพื่อตัดกระแสวัฏฏะภายในใจให้น้อยลงทุกประโยคแห่งความเพียร การทำความเพียรในที่เหมาะสม กับผู้ต้องการความไม่หวังมาเกิดตายอีกหลายชาติหลายภพ ผิดกับที่ทั่วๆ ไปอยู่มาก สถานที่ไม่เหมาะ แม้เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาเป็นเวลานานเท่ากัน แต่ผลที่ได้รับย่อมผิดกันอยู่มาก เพราะความเอาใจใส่และความสืบต่อแห่งสติปัญญา ตลอดความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่รอบตัวนั้นต่างกัน ผลที่ได้รับจากเหตุที่ไม่สืบต่อกันจึงต่างกัน
นักปฏิบัติที่ยึดศาสดาเป็นสรณะจริงๆ ควรระลึกถึงธรรมที่ประทานไว้ให้มากกว่าคิดถึงความลำบากต่างๆ มีความกลัวตายเป็นตัวการสำคัญ เช่น ความลำบากเพราะขาดแคลนกันดารในปัจจัยสี่ มีอาหารบิณฑบาตเป็นต้น ความลำบากในการประกอบความเพียร คือการฝึกทรมานจิตที่แสนคะนองโลดโผนประจำนิสัยมาดั้งเดิม ความลำบากเพราะเดินจงกรมนาน เพราะนั่งภาวนานาน เกิดทุกขเวทนาขึ้นมาทรมานกายทรมานใจ ความลำบากเพราะจิตไม่ยอมอยู่ในขอบเขตร่องรอยที่ต้องการ ความลำบากเพราะความหิวโหยโรยแรงเนื่องจากอาหารน้อย เพราะฉันแต่น้อย เพราะหยุดพักไม่ฉันบ้างเป็นวันๆ หยุดไปหลายๆ วัน เพื่อความเพียรทางใจจะได้ดำเนินสะดวกตามจริตเป็นรายๆ
ความลำบากเพราะความเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจไร้เพื่อนฝูงครูอาจารย์ ผู้เคยอบรมสั่งสอนและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นต่อกัน ความลำบากเพราะคิดถึงบ้านถึงเรือน คิดถึงเพื่อนฝูงญาติมิตรที่เคยให้ความอบอุ่นทางกายทางใจ ความลำบากเพราะเปียกฝนทนทุกข์ไม่มีที่มุงที่บังกันแดดกันฝน ความลำบากเพราะความหนาวเหน็บเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุต่างๆ ความลำบากเพราะเป็นไข้ ความเจ็บหัวตัวร้อนปวดอวัยวะส่วนต่างๆ ไม่มีหยูกยาเครื่องบำบัดรักษา ความลำบากเพราะกลัวตายอยู่ในป่าในเขาคนเดียวไม่มีผู้ปรนนิบัติรักษา เวลาตายไม่มีผู้เก็บซากศพ มีแต่แร้งกาหมากินและแมลงวันมายื้อแย่งแข่งกันกิน
ความคิดเหล่านี้เป็นเครื่องกีดขวางทางดำเนินเพื่อพระนิพพาน อย่าปล่อยให้เข้ามารบกวนใจได้ จะเสียคนไปไม่ตลอด ควรทราบทันทีว่า ความคิดนี้คือกองสมุทัย ซึ่งเป็นกุญแจเปิดทุกข์ขึ้นทับถมจิตใจ จนหาทางออกมิได้ ผู้ปฏิบัติต้องเป็นคนกล้าหาญอดทน คือทนต่อแดดต่อฝน ทนต่อความหิวโหย ทนต่อความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางกายทางใจ ทนต่อความเจ็บปวดแสบร้อนต่างๆ ที่มาสัมผัสทั้งภายในภายนอกซึ่งโลกทั้งหลายก็ยอมรับว่ามีว่าเป็นโดยทั่วกัน
นักปฏิบัติต้องฝึกหัดใจให้กล้าแข็ง ต่อแรงพายุที่คอยจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งโดยมากก็มักเกิดจากใจตัวเอง และคอยหักรานตัวเองให้ทุพพลภาพทางความเพียรกลายเป็นคนอ่อนแอ ที่เคยเข้มแข็งอดทนก็ลดวาราศอกลงโดยลำดับ และลดลงจนก้าวไม่ออก สุดท้ายก็จอดจมงมทุกข์ไปตามเคย ศาสดาก็นับวันห่างไกลจิตใจไปทุกที พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ก็เป็นเพียงลมปากแสดงออกมา ซึ่งเด็กก็ว่าได้ แต่ส่วนใหญ่ที่แท้จริงของคำว่า พุทฺธํ เลยจืดจางว่างเปล่าไปจากใจ นี่ท่านเรียกว่าผู้ท้อถอยพ่ายแพ้กิเลสมาร คือสู้ความคิดฝ่ายต่ำภายในใจของตนไม่ได้ ผู้พ่ายแพ้ขันธมารคือปล่อยให้กองทุกข์ในสังขารเหยียบย่ำทำลายอยู่เปล่าๆ ไม่สามารถหาทางคิดค้นแก้ไขด้วยสติปัญญาที่มีอยู่ พอมีทางหลบหลีกปลีกตัวออกได้ด้วยอุบายอันแยบคายของนักต่อสู้เพื่อกู้ตนจากหล่มลึก
ข้าศึกใดก็ตามในแหล่งโลกธาตุ ไม่มีอำนาจอันลึกลับแหลมคมเหมือนข้าศึกภายในใจ คือกิเลสตัณหานี่เลย ข้าศึกนี้น่าหนักใจมากสำหรับผู้มีนิสัยอ่อนแอและขี้เกียจ ไม่เป็นคนช่างคิด มีอะไรนิดมาสัมผัสคอยแต่จะยอมแพ้ ไม่คิดหาอุบายต่อสู้เพื่อตัวเองบ้างเลย นิสัยชนิดนี้กิเลสมารชอบมากเป็นพิเศษ ใครอยากเป็นคนพิเศษของมันก็ต้องฝึกและสั่งสมนิสัยนี้ขึ้นให้มาก จะได้เป็นผู้รับใช้ที่โปรดปรานของมันชนิดไม่มีวันโผล่หน้าขึ้นมาเห็นแสงอรรถแสงธรรมเครื่องนำให้พ้นทุกข์ได้เลย เกิดมาภพใดชาติใดก็มอบดวงใจที่มีคุณค่า เป็นเครื่องสังเวยเซ่นสรวงแต่กิเลสตัวมีอำนาจยิ่งกว่าธรรมภายในใจตลอดไป
คิดแล้วก็น่าสลดสังเวชที่พระเราขนาดเป็นนักปฏิบัติ ยังยอมตัวลงตามความรู้สึกฝ่ายต่ำ โดยไม่ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องฉุดลากขึ้นมาบ้าง พอได้หายใจอยู่กับความสงบแห่งธรรม สมกับเป็นนักพรตแบกกลดสะพายบาตรขึ้นเขาเข้าถ้ำอยู่ป่าภาวนา แต่ท่านที่มุ่งหน้ามาอบรมศึกษาและปฏิบัติถึงขนาดนี้ ยังจะยอมตนให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำทำลายและมาติกาบังสุกุลเอาตามชอบใจละหรือ ถ้าเป็นได้อย่างนั้น ผู้สั่งสอนก็อกแตกตายก่อนผู้มาศึกษาอบรมโดยไม่ต้องสงสัยดังนี้
อุบายวิธีสอนของท่านอาจารย์มั่น ยากที่จะจับนิสัยท่านได้ เพราะเป็นอุบายของปราชญ์ผู้ฉลาดแหลมคมในสมัยปัจจุบัน จึงรู้สึกเสียใจที่ผู้เขียนประวัติท่านและปฏิปทาพระธุดงค์สายของท่าน ไม่มีความจดจำและความฉลาดสมศักดิ์ศรีท่าน จึงไม่อาจขุดค้นเนื้ออรรถเนื้อธรรมที่สำคัญในการสั่งสอนของท่านออกมาให้ท่านได้อ่านอย่างสมใจ สมกับท่านเป็นพระในนาม “ธรรมทั้งองค์” ตามความรู้สึกของผู้เขียน ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย
การสั่งสอนพระ ท่านหนักไปในธุดงควัตร เฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในป่าในเขาในถ้ำและเงื้อมผาที่เปลี่ยวๆ รู้สึกว่าท่านเน้นหนักลงเป็นพิเศษ แทบทุกครั้งที่อบรม ไม่แสดงขึ้นต้นด้วยสถานที่ดังกล่าว ก็ตอนสุดท้ายเป็นต้องนำมาสรุปจนได้ สมกับท่านเป็นนักพรตและชอบอยู่ในป่าในเขาประจำชีวิตนิสัยของนักบวชจริงๆ การอบรมไม่ยอมให้เนื้อธรรมห่างจากธุดงควัตรเลย พอจบจากการนำพระเที่ยวชมป่าชมเขาชมถ้ำและเงื้อมผาต่างๆ อันเป็นสถานที่รื่นเริงแล้ว ก็นำพระเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยบทธรรมหมวดต่างๆ คือสอนวิธีครองผ้าและท่าสำรวมในเวลาเข้าบิณฑบาต ไม่ให้มองโน้นมองนี้อันเป็นกิริยาของคนไม่มีสติอยู่กับตัว แต่ให้มองในท่าสำรวมและสงบเสงี่ยมมีสติทุกระยะที่ก้าวไปและถอยกลับ ใจรำพึงในธรรมที่เคยบำเพ็ญมาประจำนิสัย
การบิณฑบาต ถือเป็นกิจวัตรสำคัญประจำพระธุดงค์ในสายของท่านไม่ให้ขาดได้ เว้นแต่ไม่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องไป ขณะไปก็สอนให้มีความเพียรทางภายในไม่ลดละทั้งไปและกลับจนมาถึงที่พัก ตลอดการจัดอาหารใส่บาตรและลงมือฉัน ก่อนฉันก็สอนให้พิจารณาปัจจเวกขณะ คือ ปฏิสังขา โยนิโสฯ โดยแยบคายตามภูมิสติปัญญาของแต่ละราย อย่างน้อยเป็นเวลาราวหนึ่งนาทีก่อน แล้วจึงลงมือฉันด้วยความสำรวมและมีสติอยู่กับตัวและในบาตร อาหารที่รวมอยู่ในบาตรมีหลายชนิดและมีรูปลักษณะสีสันต่างๆ กัน เมื่อรวมกันอยู่ในบาตร ใจมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง คอยดูมารยาของใจจะแสดงท่าต่างๆ ออกมาในเวลาฉัน กำหนดสติปัญญาคอยสังเกตตรวจตราทั้งความหิวที่อาจออกนอกลู่นอกทาง อันเป็นทางเดินของตัณหา ตาเป็นไฟใจเป็นวานร (ลิง) ทั้งมารยาของใจที่อาจคิดว่าอาหารที่ผสมกันอยู่มีรสชาติแปรไปต่างๆ ใจเกิดความสะอิดสะเอียนเบื่อหน่ายไม่อยากรับประทาน อันผิดวิสัยของผู้บำเพ็ญพรตเพื่อความรอบคอบและความหมดจดของใจ
อุบายการพิจารณาของแต่ละรายนั้น แล้วแต่ใครจะแยบคายในทางใด ทางปฏิกูล ทางธาตุ หรือทางใด ที่เป็นเครื่องบรรเทาและกำจัดกิเลสตัณหาความลืมตัว ย่อมถือเป็นความถูกต้องดีงามในการฉันเป็นรายๆ ที่มีความแยบคายต่างกัน ขณะฉันก็ให้มีสติเป็นความเพียรไปทุกประโยค โดยสังเกตระหว่างจิตกับอาหารที่เข้าไปสัมผัสกับชิวหาประสาทและธาตุขันธ์ในเวลากำลังเคี้ยวกลืน ไม่ให้จิตกำเริบลำพองไปตามรสอาหารชนิดต่างๆ อันเป็นความลืมตนเพราะความหิวโหยที่เป็นไปด้วยอำนาจของธาตุขันธ์ที่กำลังบกพร่องและต้องการสิ่งเยียวยาก็มี ที่เป็นไปด้วยอำนาจตัณหาความดิ้นรนของใจก็มี อย่างต้นถือเป็นธรรมดาของขันธ์ แม้พระอรหันต์ท่านก็มีได้เช่นสามัญธาตุทั่วๆ ไป แต่อย่างหลังต้องคอยระวังสังเกตและปราบปราม ขืนปล่อยไว้ไม่สนใจนำพา ต้องทำคนให้เสียได้ เพราะเป็นประเภทความอยากที่เป็นไปด้วยอำนาจตัณหาน้ำไหลนองล้นฝั่ง ไม่มีเมืองพอดี
ผู้ปฏิบัติจำต้องมีสติปัญญาใกล้ชิดกับใจอยู่เสมอ เกี่ยวกับการขบฉันทุกๆ ครั้งไป เพื่อใจจะได้มีความเคยชินต่อการพิจารณาและการรักษาตนในท่าต่างๆ คือ ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่านอน ท่าขบฉัน ตลอดการทำข้อวัตรปฏิบัติปัดกวาดต่างๆ อันเป็นกิจของพระจะพึงทำ ไม่ปล่อยสติปัญญาอันเป็นประโยคแห่งความเพียรปราศจากใจ การกระทำทุกอย่างจะกลายเป็นเครื่องเชิดหุ่นที่ไม่มีความหมายของงานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันเสร็จแล้วนำบาตรไปล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้งกับมือ ถ้ามีแดดก็ผึ่งแดดสักครู่ แล้วนำไปเก็บไว้ในสถานที่ควร เสร็จแล้วทำธุระอื่นต่อไป เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หรือทำกิจอย่างอื่น
หลังจากฉันเสร็จแล้ว โดยมากมีการเดินจงกรมมากกว่าการนั่งทำความเพียร เพราะเป็นท่าที่ระงับความโงกง่วงได้ดีกว่าท่าอื่นๆ แต่ถ้าไม่ได้ฉันจังหันในวันใด วันนั้นแม้จะนั่งในเวลาใดก็ได้ ไม่ค่อยมีความง่วงเหงาหาวนอนมารบกวน ประกอบความเพียรได้สะดวกทุกอิริยาบถไป ฉะนั้นท่านที่มีนิสัยชอบในทางนี้ จึงชอบอดอาหารกันบ่อยๆ บางครั้งอดแต่น้อยวัน ไปจนถึงทีละหลายๆ วัน คือครั้งละ ๒-๓ วันบ้าง ครั้งละ ๔-๕ วันบ้าง ๕-๖ วันบ้าง ๙-๑๐ วันบ้าง ๑๔-๑๕ วันบ้าง ๑๙-๒๐ วันบ้าง บางรายอดได้เป็นเดือนไม่ฉันอะไรเลยก็ยังมี ฉันเฉพาะน้ำธรรมดา ในระหว่างที่อดไปหลายๆ วัน บางวันก็มีฉันโอวัลตินบ้างเล็กน้อย (ถ้ามี) พอบรรเทาความอิดโรย แต่มิได้ฉันทุกวันไป คือฉันเฉพาะวันที่อ่อนเพลียมากเท่านั้น
แต่สมัยท่านอาจารย์มั่นพาพระบำเพ็ญโน้น เรื่องนม โอวัลติน น้ำตาลทราย โกโก้ กาแฟ หรืออะไรเหล่านี้ไม่ควรถามถึงเลย แม้แต่จะหาถ่ายเอารูปไว้ เวลาเกิดความหิวโหยขึ้นมาจะได้ดูแม้ไม่ได้ฉัน ก็ยังไม่มีให้ถ่ายเลย ไม่เหมือนปัจจุบันที่มีหรูหราเสียทุกอย่าง จนกลายเป็นความฟุ่มเฟือยมากกว่าอดอยากขาดแคลน คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่พระธุดงคกรรมฐานเราภาวนาตามท่านไปอย่างลำบากลำบน และบ่นกันอู้ว่าจิตไม่รวมไม่สงบ แย่จริงๆ แทบทุกแห่งทุกหน ความจริงก็จะให้สงบได้อย่างไรกัน ต้องขออภัยเขียนตามความจริง ตอนเช้าไปบิณฑบาตก็เต็มบาตรกลับมาทั้งหวานทั้งคาว แถมบางครั้งมือหนึ่งยังหิ้วปิ่นโต พอมาถึงศาลา ปิ่นโตก็วางเป็นแถวๆ ไม่ชนะที่จะรับประเคน ซึ่งล้วนแต่ท่านศรัทธาที่มุ่งต่อบุญกุศล อุตส่าห์แหวกว่ายมาจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้ทั้งไกลทุกทิศทุกทาง มาขอแบ่งบุญจากพระธุดงคกรรมฐานด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ทานเท่าไรไม่กลัวหมดกลัวสิ้น เพราะแรงศรัทธาพาขวนขวาย เพียงเท่านี้ก็แย่อยู่แล้ว
พอกลางวันหรือตอนบ่ายตอนเย็นๆ น้ำแข็ง น้ำส้ม น้ำหวาน โกโก้ กาแฟ น้ำอ้อย น้ำตาล อะไรเต็มไปหมด ก็มาอีกแล้วจนไม่ชนะจะฉัน และนอนแช่กันอยู่แบบนั้น พระธุดงค์จึงรวยใหญ่ แต่ภาวนาไม่เป็นท่า มีแต่ความอืดอาดเนือยนายเหมือนเรือบรรทุกของหนัก คอยแต่จะจมน้ำทั้งที่ยังไม่ได้ออกจากท่า ดังนั้น ท่านผู้มุ่งต่อฝั่งแห่งพระนิพพาน ท่านจึงระมัดระวังตัวอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ความลำบากอิดโรยต่างๆ พยายามบากบั่นฟันฝ่าสิ่งกีดขวางต่อทางดำเนินมิได้นอนใจ สิ่งของหรืออาหารปัจจัยแม้มีมากท่านก็รับแต่น้อย ด้วยความรู้จักประมาณ
ท่านที่อดนอนผ่อนอาหารหรืออดอาหารก็เช่นกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะพาให้ท่านถึงความสงบสุขทางใจ รายที่ถูกจริตกับการอดอาหาร อดไปหลายวันเท่าไร ใจยิ่งสงบผ่องใสและเขยิบฐานะขึ้นสู่ความละเอียดโดยลำดับ ความสงบก็สงบได้ง่ายและเร็วกว่าธรรมดา เวลาออกคิดค้นทางปัญญา ใจก็คล่องแคล่วแกล้วกล้า พิจารณาอะไรก็ทะลุปรุโปร่งโล่งไปได้ดังใจหวัง ความหิวโหยโรยแรง แทนที่จะเป็นความลำบากทรมานทางกายทางใจ แต่กลับกลายเป็นเส้นทางอันราบรื่นชื่นใจต่อการดำเนินของท่าน ไปทุกระยะที่ผ่อนและอดอาหารเป็นคราวๆ ไป ท่านที่มีนิสัยในทางนี้ ท่านก็พยายามตะเกียกตะกายบำเพ็ญไปด้วยความอดอยากขาดแคลนแบบนี้ตลอดไป ในท่ามกลางแห่งความสมบูรณ์ด้วยปัจจัยสี่ เพราะถือเป็นเครื่องอาศัยพอยังความเป็นอยู่ให้เป็นไปเป็นวันๆ เท่านั้น สาระสำคัญคือธรรมภายในใจ ท่านถืออย่างเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายเข้าประกัน ไม่ยอมลดละปล่อยวางตลอดไป
นักภาวนาที่กล้าตายเพื่ออรรถเพื่อธรรมต่อมรรคผลนิพพานจริงๆ ที่ไหนสะดวกในการบำเพ็ญเพียรทางภาวนา ท่านมุ่งต่อที่นั้นโดยมิได้คำนึงถึงความทุกข์ลำบาก เพราะอะไรจะบกพร่องขาดเขินบ้าง ใจน้อมต่อธรรมอันเป็นทางพ้นทุกข์ล้วนๆ ไม่มีอะไรมาแอบแฝงแปลงปลอมได้เลย อิริยาบถทั้งสี่เป็นความเพียรล้วนๆ ประหนึ่งท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ทุกอิริยาบถ เว้นแต่ขณะหลับเท่านั้น นอกนั้นเป็นเวลาที่ท่านปลดเปลื้องกิเลสเครื่องผูกพันต่างๆ ออกจากใจอย่างไม่ลดละท้อถอย ราวกับจะให้กิเลสพินาศขาดสูญออกจากใจในเวลานั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เพื่อก่อกรรมทำเข็ญแก่ท่านอีกต่อไป ผู้มีนิสัยถูกกับวิธีนี้ ท่านก็เร่งปฏิปทาไปในทางนี้ ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลังให้กิเลสในบรรดาที่ละได้แล้วได้ใจหัวเราะเยาะ และเรืองอำนาจบนหัวใจได้อีกต่อไป ส่วนที่ยังเหลือก็พยายามต่อสู้กันต่อไปจนกว่าจะถึงแดนชัย
ท่านที่มีนิสัยในทางใด ซึ่งเป็นผู้มุ่งต่อธรรมอย่างเต็มใจแล้ว ย่อมจะเร่งความเพียรในทางนั้น เช่น ผู้ผ่อนอาหารเป็นการถูกกับจริต ก็พยายามผ่อนให้กลมกลืนกับปฏิปทาเรื่อยไป ไม่ยอมลดละไปตลอดสาย จนสุดทางเดินหรือก้าวเข้าวัยที่อ่อนกำลังทางกาย ท่านอาจลดหย่อนผ่อนผันไปตามวัยบ้าง ผ่อนอาหารตามเคยบ้าง สลับกันไปตามเหตุการณ์ที่เห็นว่าควร ท่านที่เดินจงกรมมากถูกกับจริต ก็พยายามทำความเพียรในท่าเดินมากกว่าท่าอื่นๆ ตลอดไป แม้จะมีท่าอื่นๆ เข้าแทรกบ้างก็เพียงเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถไปด้วยในตัว แล้วกลับมาท่าเดิมที่เคยเห็นว่าได้ผลมากกว่าท่าอื่นๆ ท่านที่ถูกกับการนั่งมากกว่าท่าอื่น ก็พยายามทำความเพียรในท่านั่งให้มากกว่าท่าอื่น หากมีการเปลี่ยนบ้างก็เป็นคราวๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถไปด้วย ท่านที่ถูกจริตกับท่านอนมากหรือท่ายืนมากกว่าท่าอื่น ก็ย่อมประกอบความเพียรให้หนักไปในท่านั้นๆ ตามความถนัดของแต่ละราย
แม้สถานที่ทำความเพียรก็เช่นกัน ย่อมเหมาะกับจริตเป็นรายๆ ไป บางท่านชอบได้กำลังใจจากที่โล่งๆ อากาศโปร่งๆ เช่นอยู่กลางแจ้งในเวลาเย็นหรือกลางคืนก็มี บางท่านชอบได้กำลังใจเพราะการทำความเพียรอยู่ในถ้ำก็มี บางท่านชอบได้กำลังใจเพราะอยู่บนหลังเขาไหล่เขาก็มี บางท่านชอบได้กำลังใจเพราะอยู่ป่าราบๆ ธรรมดาก็มี บางท่านชอบอยู่ริมน้ำริมสระว่าได้กำลังใจดีก็มี ต่างๆ กัน อย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติที่มุ่งความเจริญแก่ตน ย่อมทราบจริตนิสัยของตนได้ดีและพยายามประกอบความเพียรตามอิริยาบถและสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสมกับจริตจิตใจไปโดยสม่ำเสมอ ไม่ให้ขัดต่อนิสัยที่เห็นว่าชอบกับอิริยาบถและสถานที่ดีแล้ว
ท่านอาจารย์มั่นท่านสั่งสอนปฏิปทาเครื่องดำเนินแก่บรรดาศิษย์ ทั้งภายในภายนอกละเอียดลออมาก และสั่งสอนอย่างมีเหตุผลซาบซึ้งจับใจในธรรมทุกขั้นและเครื่องดำเนินทุกแขนง ผู้ได้รับการอบรมจากท่านพอสมควร ต้องการจะเร่งความเพียรจำเพาะตน ก็นมัสการกราบลาท่านออกแสวงหาที่วิเวกสงัดเป็นแห่งๆ ไป ตามนิสัยที่ชอบในสถานที่ใดก็ไปยังสถานที่นั้น คือ ท่านที่ชอบภูเขาก็มุ่งหน้าขึ้นเขา หาเลือกสถานที่ที่จะพักบำเพ็ญเอาตามชอบใจ แต่น้ำสำหรับอาบดื่มใช้สอยมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะขาดไปไม่ได้ อาหารยังพออดได้ทนได้ทีละหลายๆ วัน แต่น้ำอดไม่ได้และไม่ค่อยมีส่วนทับถมร่างกายให้เป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจเหมือนอาหาร จึงไม่จำเป็นต้องอดให้ลำบาก ทั้งน้ำมีความจำเป็นต่อร่างกายอยู่มาก ฉะนั้นการแสวงหาที่บำเพ็ญต้องขึ้นอยู่กับน้ำเป็นสำคัญส่วนหนึ่ง แม้จะมีอยู่ในที่ห่างไกลบ้างประมาณกิโลเมตรก็ยังนับว่าดี ไม่ลำบากในการหิ้วขนนัก
ที่โคจรบิณฑบาตถ้ามีหมู่บ้านราว ๔-๕ หลังคาเรือน หรือ ๘-๙ หลังคา ก็พอเป็นไปสำหรับพระธุดงค์เพียงองค์เดียวไม่ลำบากอะไรเลย ตามปกติพระธุดงคกรรมฐานไม่ค่อยกังวลกับอาหารคาวหวานอะไรนัก บิณฑบาตได้อะไรมาท่านก็สะดวกไปเลย แม้ได้เฉพาะข้าวเปล่าๆ ไม่มีกับเลย ท่านยังสะดวกไปเป็นวันๆ เพราะเคยอดเคยอิ่มมาแล้วจนเคยชิน ถ้าไม่เป็นการอวดแม้เขียนตามความจริงที่เคยประสบมาเป็นประจำในชีวิตกรรมฐาน ผู้เขียนเคยประสบมาเสียจนเคยตัว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเข็ดหลาบอะไรเลย บางเวลามีโอกาสยังคุยโม้เรื่องความอดอยากของตัวให้หมู่เพื่อนฟังอย่างไม่อาย ทั้งที่คนทั้งโลกเขาอายกัน ไม่อยากพูดถึงเรื่องความอดอยากขาดแคลนของตัวเองและครอบครัวให้เพื่อนฝูงฟัง เพราะเป็นความอับอายมาก ส่วนพระกรรมฐานยังคุยโม้ได้ไม่นึกกระดากใครว่าจะหัวเราะเยาะเอา
ที่เขียนอย่างไม่อายก็เพราะ ชีวิตของพระกรรมฐานเป็นชีวิตที่แร้นแค้นกันดารมาแต่ครูอาจารย์ผู้เป็นต้นตระกูล มีท่านอาจารย์มั่นเป็นต้นในสายนี้พาดำเนินมาก่อน ตกมาถึงลูกๆ หลานๆ จึงมักเป็นลูกหลานที่มีปฏิปทาอดๆ อยากๆ ที่จำต้องยอมทนอดทนหิวบ้างด้วยความสมัครใจนั้น เนื่องจากการบำเพ็ญทางใจได้รับความสะดวกต่างกันกับที่ฉันตามปกติ ร่างกายจิตใจไม่ค่อยอุ้ยอ้ายอืดอาด อันเป็นลักษณะขี้เกียจอย่างเต็มตัวไม่อยากทำความเพียรทางใจ ยิ่งปล่อยตามใจคือฉันให้มากตามอำนาจตัณหาบงการด้วยแล้ว วันนั้นตาและจิตไม่อยากมองทางจงกรมเอาเลย มีแต่จับจ้องอยู่ที่หมอนเท่านั้น ให้นอนทั้งวันยิ่งถูกใจเจ้า…ใหญ่ ขืนเขียนไปมากก็เป็นการขายตัวมากซึ่งเป็นกรรมฐานองค์สำคัญในเรื่องนั้นองค์หนึ่ง จึงควรยุติเสียบ้าง
เมื่อคิดดูแล้ว ใจพระกรรมฐาน ใจท่านใจเรา คงคล้ายคลึงกัน อนุโลมตามเท่าไรยิ่งได้ใจ สนุกคิดไปร้อยแปด แบบไม่มีขอบเขตต้นฉบับคัมภีร์ใบลานอะไรเลย มีแต่เรื่องนรกอเวจีเสียทั้งสิ้น และพอใจเปิดอ่านทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันเบื่อหน่ายอิ่มพอ มิหนำยังหาญยึดอำนาจเอานรกอเวจีมาเป็นที่สนุกสนานเฮฮา โดยไม่หวั่นเกรงยมบาลบ้างเลย เวลากิเลสเรืองอำนาจบนหัวใจเป็นอย่างนี้แล
พระกรรมฐานท่านทรมานใจตัวเก่งกาจด้วยวิธีต่างๆ โดยพาอดอาหารบ้าง อดนอนบ้าง พาขึ้นบนภูเขาบ้าง พาเข้าถ้ำและเงื้อมผาบ้าง พานั่งสมาธิทรมานความอยากคิดอยากปรุงของมันบ้าง ตามแต่จะมีอุบายทรมานได้ เพื่อใจหายพยศไปเป็นพักๆ พอได้หายใจอยู่สบายไปเป็นวันๆ เวลาที่ยังไม่ได้ฐานของจิตไว้ชม โดยมากท่านมักฝึกจิตตามที่เขียนมานี้ เฉพาะสายของท่านอาจารย์มั่นเคยเห็นท่านพาดำเนินมาอย่างนี้ พระที่ออกจากท่านไปขึ้นเขาเข้าถ้ำก็เพื่อฝึกฝนใจดังที่เล่ามานี่แล บางคืนไม่ได้หลับนอนเพื่อพักผ่อนร่างกายบ้างเลยก็เพราะจิตมันชอบเที่ยว ต้องใช้วิธีผูกมัดกันด้วยการทำสมาธิภาวนา
เวลาขึ้นไปอยู่บนเขาด้วยแล้ว ต้องอาศัยสิ่งที่มันกลัวช่วยปราบปรามทรมานด้วย เช่น เสือ เป็นต้น สัตว์ชนิดนี้นับว่าทรมานจิตพระกรรมฐานได้ดีมาก เพียงได้ยินแต่เสียงกระหึ่มๆ ฟากภูเขาทางโน้น ใจก็เตรียมหมอบราบอยู่ทางนี้แล้ว ไม่กล้าแสดงความคึกคะนองใดๆ ตามใจเลยเวลานั้น บางครั้งเสียงอาจารย์ใหญ่ตัวทรงอำนาจกระหึ่มขึ้นใกล้ๆ ปรากฏว่าลืมหายใจไปก็มี ขณะนั้นลืมเพลงกิเลสที่เคยร่ายคิดด้วยความคะนองไปหมด เหลือแต่ความกลัวตัวสั่นอยู่เท่านั้น บางครั้งเหมือนลมหายใจจะขาดไปในขณะนั้นจริงๆ เพราะกลัวมาก อากาศหนาวๆ แต่ร่างกายกลับร้อนเหงื่อแตกโชกไปทั้งตัวเพราะความกลัวบังคับ นับว่าพอเหมาะพอดีกันเหลือเกินกับจิตตัวเก่งกล้า ไม่ยอมฟังเสียงอรรถเสียงธรรมรบเร้าสั่งสอน ตอนนั้น จิตยอมเชื่อพระพุทธเจ้าและน้อมเอาพระองค์เข้ามายึดฝากชีวิตทันที ไม่ยอมคิดออกไปหาเสืออีกเลย เพราะฝืนคิดเท่าไรความกลัวยิ่งทวีรุนแรงจะเป็นบ้าไปให้ได้
ความกลัวเป็นบ้ากับความกลัวตายมีกำลังมาก ก็จำต้องนึกถึง พุทโธ ๆ อยู่ภายใน นึกไปนานๆ คำว่าพุทโธกับใจก็กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ จากนั้นใจก็เริ่มสงบนิ่ง เหลือแต่ความรู้เพียงอันเดียว ความกลัวหายไปหมดราวกับปลิดทิ้ง ความกล้าหาญเกิดขึ้นแทนที่ ไม่นึกกลัวอะไรในไตรโลกธาตุ ขณะนั้นแลจิตเห็นโทษความกลัวเสือและเห็นคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อย่างถึงใจ ไม่เอนเอียงหวั่นไหวไปมากับอารมณ์ใดๆ มีแต่ความสงบสุขและความกล้าหาญเต็มดวงใจ จิตกลับเป็นมิตรต่อศัตรูคือเสือได้อย่างสนิท มิหนำยังอยากโดดขึ้นนั่งเล่นบนหลังเสือตัวเป็นมิตรได้อย่างสนิทใจ มิได้นึกว่ามันจะทำอะไรได้เหมือนที่เคยนึกกลัวมาก่อนเลย ปรากฏว่าใจผูกมิตรได้กับทุกตัวสัตว์ที่มีอยู่ในป่า ไม่นึกว่าสัตว์ตัวใดและสิ่งลึกลับจะกล้ามาทำอันตรายได้ ตามความจริงแล้ว คิดว่าสัตว์ร้ายต่างๆ จะทำอะไรไม่ได้จริงๆ เพราะผู้จะทำก็คือใจเป็นผู้คิดพาริเริ่ม แต่ใจอีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอยู่แล้ว ย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอ่อนอำนาจและความตั้งใจลงไปเอง
การอยู่ในป่าก็ดี ในภูเขาก็ดี ในเงื้อมผาป่าไม้ชายเขาลำเนาไพรต่างๆ ก็ดี โดยมากท่านแสวงหาที่น่ากลัวช่วยพยุงความเพียรให้สะดวกยิ่งขึ้น จำพวกสัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น ช่วยพยุงความเพียรได้ดี พระกรรมฐานจึงชอบมันทั้งที่กลัวมันมาก ที่ชอบก็ชอบที่มันช่วยให้เกิดความกลัวได้อย่างรวดเร็วทันใจ เพียงมองเห็นรอยของมันที่เหยียบไว้ตามทางหน้าถ้ำ หรือสถานที่ต่างๆ เท่านั้น ความหวาดกลัวแม้กำลังหลับสนิทอยู่ก็เริ่มตื่นขึ้นทันที และทำให้ระแวงกับมันอยู่นั่นแล ไม่ว่าจะอยู่ในท่าอิริยาบถใด ความรู้สึกเหมือนมันจะมาเยี่ยมอยู่เสมอ ใจก็มีทีท่าระวังอยู่ทำนองนั้น ขณะที่เกิดความรู้สึกระวังขึ้นมาก็เป็นท่าความเพียรไปในตัว เพราะขณะกลัว ใจต้องระลึกถึงธรรมเป็นที่พึ่งหรือที่ต้านทานขึ้นมาพร้อมๆ กัน การระลึกธรรมนานเพียงไรย่อมเป็นการเสริมกำลังสติปัญญาและความเพียรทุกด้านให้ดีขึ้นเพียงนั้น ผลคือความสงบก็เริ่มเกิดขึ้นตามส่วนแห่งความเพียรจนสงบลงได้อย่างสนิท
ฉะนั้น ความชอบเสือก็ดี ความกลัวเสือก็ดี สำหรับผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจากสิ่งทั้งสองเป็นเครื่องสนับสนุน จึงได้กำลังใจขึ้นมาในทันทีทันใด โดยมิได้คาดฝันว่าจะเป็นไปได้ แต่ความจริงเรื่องทำนองนี้ก็เคยปรากฏผลในวงพระธุดงคกรรมฐานมาแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะความกล้าเสียสละ จะตายก็ยอมตายไม่เสียดายชีวิตในขณะนั้น คนเราเมื่อจนมุมเข้าจริงๆ หาที่พึ่งอื่นไม่ได้ ก็จำต้องพยายามคิดช่วยตัวเอง ธรรมยิ่งเป็นองค์สรณะอันอุดมอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อน้อมเข้ามาเป็นที่พึ่งของใจในขณะที่กำลังต้องการที่พึ่งอย่างเต็มที่ ธรรมก็ย่อมแสดงผลให้เห็นทันตาทันใจไม่มีทางสงสัย แม้ผู้ที่ไม่เคยทำ และไม่เคยประสบมาบ้างจะสงสัย และปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผู้ทำก็ได้ประสบผลอย่างประจักษ์ใจตัวเองมาแล้ว ทั้งที่ผู้อื่นไม่รู้ด้วยเห็นด้วย สุดท้ายความจริงจะตกเป็นของฝ่ายใดก็สุดแต่นักวิพากษ์วิจารณ์จะวินิจฉัยกันไป เฉพาะผู้ประสบเหตุการณ์ด้วยใจตัวเองมาแล้วคงไม่วิจารณ์
นี่แลสิ่งที่ได้รู้เห็นด้วยตัวเองอย่างประจักษ์แล้ว สิ่งนั้นก็หมดปัญหาสำหรับผู้นั้น ดังธรรมพระพุทธเจ้า จะเป็นส่วนใหญ่หรือส่วนย่อยก็ตาม สำหรับพระองค์กับพระสาวกท่าน ไม่มีอะไรสงสัยในแง่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้ที่ยังไม่รู้เห็นตามก็อดเกิดความสงสัยไม่ได้ เช่น ธรรมว่าไว้ว่า สัจจะมีจริง บาปมีจริง บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง นิพพานมีจริง เป็นต้นดังนี้ เฉพาะพระองค์และพระสาวกท่านไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะทรงรู้เห็นและตรัสไว้เอง แต่ผู้ที่ยังไม่รู้เห็นด้วยก็ย่อมเกิดปัญหาสงสัยและถกเถียงกันไป ผู้ที่รู้เห็นด้วยตัวเองปัญหาก็ยุติลงเอง
สรุปแล้วธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยความจริงล้วนๆ ย่อมมีทั้งผู้รู้เห็นตาม เชื่อถือและฝากชีวิตจิตใจต่อธรรม ทั้งผู้ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เชื่อถือและปฏิเสธว่าธรรมไม่เป็นความจริงตลอดมาจนปัจจุบัน ไม่มีใครมาตัดสินให้สงบลงได้ เพราะธรรมมิใช่ด้านวัตถุที่พอจะหยิบยกมายืนยันได้เหมือนโลก นอกจากจะรู้เห็นด้วย สนฺทิฏฺฐิโก ไปตามวิสัยความสามารถของผู้ปฏิบัติไตร่ตรองเป็นราย ๆ ไปเท่านั้น ดังนั้นผลที่เกิดจากอุบายฝึกฝนทรมานของแต่ละราย จึงไม่สาธารณะแก่ผู้หนึ่งผู้ใดที่มิได้ทำการพิสูจน์จากความจริงที่เป็นวิสัยของมนุษย์จะพึงทำได้ด้วยกันเป็นรายๆ ไป
พระธุดงคกรรมฐานที่ฝึกตนแบบเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงต่อความเป็นความตาย จึงควรจัดเป็นวิธีพิสูจน์ตนและธรรมเพื่อความจริงวิธีหนึ่ง ซึ่งไม่นอกเหนือไปจากวงแห่งศาสนธรรมที่ประทานไว้ เรื่องที่เขียนลงเหล่านี้ เป็นวิธีที่พระธุดงคกรรมฐานท่านเคยฝึกตนมาประจำนิสัยและปฏิปทาที่เห็นว่าเหมาะกับจริตของตนเป็นรายๆ ไปอยู่แล้ว และมีผลเป็นคู่เคียงกันมา มิได้ทำแบบสุ่มๆ และนำมาเขียนแบบเดาๆ แม้ผู้เขียนเองก็เคยตะเกียกตะกายตามวิธีที่กล่าวเหล่านี้มาแล้ว ท่านที่เป็นนักปฏิบัติตามสายนี้ด้วยกัน ต่างก็เคยได้ดำเนินและเห็นผลมาตามกำลัง พอเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันได้ว่า การฝึกทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวมา จึงมิได้เป็นโมฆะไปแบบมีเหตุแต่ไม่มีผลเป็นเครื่องตอบสนองแต่อย่างใด แต่เป็นปฏิปทาที่เต็มไปด้วยความหมายคือผลอันพึงหวัง จะเป็นที่ยอมรับในวงปฏิบัติของท่านผู้มีปฏิปทาอันดีงามตลอดไป
คำว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว มรรคผลนิพพานเกิดความกระทบกระเทือนไปตาม ไม่สามารถทรงดอกทรงผลสมบูรณ์แก่ท่านผู้ปฏิบัติเป็น ธมฺมานุธมฺม ปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมชื่อว่าผู้บูชาเราตถาคตดังนี้ ไม่มีอยู่ในวงสวากขาตธรรม และจะไม่มีอยู่ในธรรมของพระองค์ตลอดไปด้วย เพราะอำนาจความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดใดๆ ย่อมไม่มี นอกเหนือไปจากธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว และเป็นธรรมชาติที่ให้ความเสมอภาคแก่สิ่งทั้งปวง ดังนั้นผู้เชื่อในธรรมเป็นต้น จึงไม่นิ่งนอนใจที่จะตะเกียกตะกายเพื่อแสวงหาความดีงามใส่ตน นับแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ด้วยความพากเพียรโดยวิธีต่างๆ ตามแต่กำลังและความถนัดในทางใด
พระธุดงค์ท่านถนัดทางใด ในบรรดาวิธีแก้ไขหรือปราบปรามกิเลสภายในให้สิ้นไปเป็นพักๆ ท่านย่อมแสวงในทางนั้น เช่น ผู้มีนิสัยขี้กลัว ก็หาอุบายเอาเสือเป็นอาจารย์ช่วยฝึกทรมาน ตั้งความพยายามเข้าสู่ป่าสู่เขาอันเป็นที่น่ากลัวและเป็นสมรภูมิที่เหมาะแก่การกำจัดความกลัว อันเป็นกิเลสตัวสำคัญชนิดหนึ่งออกจากใจ ตามธรรมดาจิตย่อมเปลี่ยนความรู้สึกไปกับสิ่งเกี่ยวข้องเป็นอย่างๆ ไปไม่มีสิ้นสุด คืออยู่ในบ้านในเมืองกับผู้คนหญิงชายมากๆ จิตมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง เข้าไปอยู่ในป่าในเขาอันรกชัฏหรือในที่เปลี่ยวๆ เช่นป่าช้าป่าที่มีเสือชุกชุม มีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น อุบายวิธีฝึกทรมานจิตจำต้องมีหลายวิธี เพื่อให้ทันกับกลมารยาของกิเลสหลายชนิดที่มีอยู่กับจิตซึ่งแสดงตัวออกอยู่ทุกระยะตามชนิดของมัน
ถ้าเป็นนักสังเกตอยู่บ้างจะเห็นว่า จิตเป็นสถานที่ชุมนุมแห่งเรื่องทั้งปวง และก่อกวนตัวเองไม่มีเวลาสงบอยู่เฉยๆ ได้แม้เวลาหนึ่งเลย ซึ่งโดยมากก็เป็นเรื่องต่ำทรามที่จะคอยฉุดลากความประพฤติให้เป็นไปตามทั้งนั้น ไม่ค่อยมีเรื่องอรรถธรรมแฝงอยู่พอให้เกิดความสงบเย็นใจได้บ้าง ผู้ประสงค์ทราบข้อเท็จจริงทั้งหลายจำต้องเป็นนักสังเกตจิตและฝึกฝนทรมานจิตด้วยวิธีต่างๆ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านเป็นตัวอย่างอันดีเลิศแก่หมู่ชน
ท่านที่ชอบอยู่ในป่าจนเป็นนิสัยนั้น ความจริงแล้ว ความรู้สึกของคนเราย่อมเหมือนๆ กัน ไม่มีใครคิดชอบขึ้นมาโดยลำพังว่าอยากอยู่ในป่าในเขาในที่เปลี่ยวๆ อันใครๆ ไม่พึงปรารถนาในโลก แต่ที่จำต้องคิดต้องทำอย่างนั้น ก็เพื่อความเป็นคนดีมีคุณค่าเป็นสง่าราศีแก่ตัวเอง ด้วยการคิดและทำที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น จึงได้ฝืนใจทำ ดังงานต่างๆ ที่ชาวโลกทำกันมาประจำแผ่นดิน ความจริงไม่มีใครอยากทำให้ลำบากกายลำบากใจเลย ที่ต้องทำก็เพราะความจำเป็นบังคับ จึงต้องวิ่งวุ่นกันทั่วไปในโลกที่มีการกินอยู่หลับนอนเป็นนิสัย ยิ่งการฝึกจิตใจด้วยแล้ว ถ้าท่านที่ยังไม่เคยทดลองดู จึงไม่ควรยกงานอื่นใดในโลกมาพูดว่าเป็นงานยาก เผื่อเวลามาเจองานฝึกจิตเข้าแล้วจะฝืนทำงานนี้ต่อไปไม่ได้ และอาจพูดว่าเป็นงานเพชฌฆาตหรืองานดัดสันดานไปก็ได้ แล้วไม่อยากสนใจคิดจะทำงานนี้ต่อไป โดยไม่คำนึงผลที่จะเกิดจากงานนี้ว่าเป็นความวิเศษอัศจรรย์เพียงไร
เมื่อพูดตอนนี้ เราพอจะเห็นความรุนแรงเหนียวแน่นของกิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจบนหัวใจว่า มีความเหนียวแน่นแก่นนักสู้นักทรมานสัตว์โลกเพียงไรขึ้นมาบ้าง เพราะการฝึกจิตก็คือการกำจัดหรือขับไล่กิเลสออกจากใจนั่นเอง ผู้ขับไล่ก็ไม่อยากขับไล่ ผู้เคยเป็นเจ้าอำนาจบนหัวใจคนและสัตว์มานานก็ไม่อยากออก เพราะไปอยู่ที่อื่นมันไม่สบายเหมือนอยู่บนหัวใจคน ซึ่งได้รับความทะนุถนอมปรนปรืออยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมให้อดอยากขาดแคลนอะไรได้ ต้องการชมรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและอารมณ์ชนิดใด ผู้รับใช้เป็นวิ่งเต้นหามาให้ชมทันทีไม่ชักช้า ราคาค่างวดเท่าไร เสวยสุขเป็นที่พอกับความต้องการแล้วค่อยคิดบัญชีกัน การคิดและการจ่ายค่าอะไรเท่าไร ก็เป็นธุระหน้าที่ของผู้รับรองทั้งสิ้น เจ้าอำนาจมิได้อุทธรณ์ร้อนใจอะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะเป็นคนใจเหล็กเพชรมาจากไหนที่จะมีแก่ใจฝึกจิต คิดขับไล่กิเลสเจ้าแสนคารมให้ออกจากใจได้
ฉะนั้นการฝึกจิตเพื่อความรู้ความเห็นด้วยสติปัญญาอย่างแท้จริง ว่ากิเลสเป็นข้าศึกแก่ใจ จึงเป็นการฝึกยากเห็นได้ยากอย่างยิ่ง ควรเรียกว่างานฝึกจิตทรมานกิเลสเป็นงานยากฝากตายจริงๆ มิใช่งานทำเล่นอย่างสนุกสนานดังเขาเล่นกีฬากันตามสนาม บรรดาท่านที่สามารถรู้หน้าฆ่ากิเลสให้ตายจากใจ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จึงเป็นบุคคลพิเศษ ถ้าเป็นสามัญเราเกิดมีความสามารถฆ่ากิเลสให้ตายจากใจได้ แม้จะไม่เป็นบุคคลพิเศษดังพระองค์ ก็ต้องเป็นบุคคลพิเศษในวงกิเลสทั้งมวล ความอัศจรรย์แห่งความสามารถฆ่ากิเลสให้ตาย และความอัศจรรย์ของจิตที่อยู่เหนืออำนาจของกิเลสแล้ว มีอยู่ในท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นคือผู้เหนือโลก ฉะนั้นการทำความพยายามทุกประโยคเพื่อการคว่ำวัฏฏะบนหัวใจจึงเป็นงานที่เต็มไปด้วยความลำบากทรมานทุกด้าน
พระกรรมฐานที่ท่านฝืนใจอยู่ในที่ทรมาน เช่น ในป่าในเขา เป็นต้น จึงเป็นเหมือนอยู่ในที่คุมขัง กว่าจะพ้นโทษเครื่องจำจองจากกิเลสออกมาได้แต่ละรายก็แทบไปแทบอยู่ นี่แลการฝึกจิตเพื่ออรรถธรรมจริงๆ เป็นของยากอย่างนี้ นอกจากอยู่ด้วยการทรมานตนแล้ว การขบฉันก็ทรมานไปตามๆ กัน เพราะเป็นประโยคแห่งความเพียรด้วยกัน ที่ผู้หวังผ่านพ้นดงหนาป่าทึบคือความมืดมน จะขวนขวายทรมานเพื่อเป็นความดีอีกทางหนึ่ง
การฉัน แม้หิวมากอยากฉันให้มากๆ ตามใจชอบ แต่เมื่อคำนึงถึงธรรมแล้วก็จำต้องอดต้องทน ฉันแต่น้อยเพื่อแบ่งให้ทางธาตุขันธ์บ้าง แบ่งให้ทางจิตใจบ้าง พอพยุงกันไปตามสมควร พยายามฉันแต่น้อยอันเป็นปฏิปทาที่เหมาะสมกับจริตของตนไปโดยสม่ำเสมอ หากจะเพิ่มให้ยิ่งกว่านั้นในบางกาล ก็ต้องทำความรู้สึกไว้เสมอไม่ลืมตัว มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวสลับกันไป ธาตุขันธ์ก็ทรงตัวไปได้ ไม่อ่อนเพลียจนเกินไป และไม่ถึงกับเกิดโรคภัยไข้เจ็บทำให้เสียการ จิตอย่างน้อยก็ทรงตัวและเจริญขึ้นตามลำดับแห่งความเพียรที่สนับสนุนอยู่โดยสม่ำเสมอ ถ้าความสามารถพอ วาสนาบารมีสมบูรณ์ ก็ผ่านพ้นไปได้ดังใจหมาย เพราะอุบายวิธีทางความเพียรแต่ละประเภทช่วยส่งเสริม
ท่านที่ชอบอดอาหารตามนิสัย ก็พยายามอดบ้าง อิ่มบ้าง ผ่อนไปบ้าง ระยะสั้นบ้าง ระยะยาวบ้างตามแต่เห็นควร ทางจิตก็ขยับความเพียรเข้าทุกทีเวลามีโอกาส ทางธาตุขันธ์ก็ผ่อนลงเพื่อความเพียรได้ดำเนินโดยสะดวก จิตจะได้ราบรื่นแจ่มใสขึ้นไปเป็นระยะ ทางสมาธิก็เร่งในเวลาที่ควร ทางปัญญาก็ขวนขวายไปตามโอกาสสลับกันไป ท่านที่อยู่ในป่าในเขาในเงื้อมผาหรือในสถานที่ต่างๆ ก็ดี ท่านที่ผ่อนอาหารก็ดี ที่อดอาหารก็ดี ซึ่งมีจิตมุ่งมั่นต่อธรรมด้วยกัน ต่างก็อยู่ด้วยความเพียรทางสมาธิภาวนาในอิริยาบถต่างๆ กัน คอยสังเกตความเคลื่อนไหวของใจที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆ อยู่โดยสม่ำเสมอ ใจเมื่อได้รับการบำรุงรักษาโดยถูกทางและสม่ำเสมอ ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ สมาธิก็เจริญมั่นคง ปัญญาก็แยบคายกว้างขวางออ

รวมโอวาทธรรม......หลวงปู่มั่น * ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม
คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย
ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ปลอดภัย
ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน
เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ
จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท
จะคิด-พูด-ทำอะไรไม่มีการยกเว้น
มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก
มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี
คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ
และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย

--------------------------------------------
* การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น
นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย
จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง
เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน
งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว
แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง

* ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น
ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน
ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์
ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน
จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี
ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน

* เมื่อเกิดมาอาภัพชาติ แล้วอย่าให้ใจอาภัพอีก
ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพ
คิดแต่ผลิตโทษทำบาปอกุศลเผาผลาญตนให้ได้ทุกข์ เป็นบาปกรรมอีกเลย

--------------------------------------

* คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย และติดใจไม่ยอมลดละแก้ไขให้ดี
คนดี ทำดีได้ง่าย และติดใจกลายเป็นคนรักธรรมตลอดไป


* เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้
งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ
นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน

* ศีล นั้นอยู่ที่ไหนมีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า
ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ
คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้
ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล
กายก็ประพฤติไปต่างๆ
มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว
ไม่มีเรื่องหลงหา หลงขอ คนที่หา คนที่ขอต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี
ยิ่งอดอยากยากเข็ญ
กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์
จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เราแล้ว รักษาได้ไม่มีกาล
ได้ผลไม่มีกาล
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข
ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ไม่อด ไม่ยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลให้สมบูรณ์
จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย

* คุณธรรม ยังมีผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องระบือ
มีความฉลาด
กว้างขวางในอุบายวิธี ไม่มีคับแค้นจนมุม


----------------------------------
* การปฏิบัติธรรม เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ทรงตรัสสอนเรื่องกาย
วาจา จิต มิได้สอนเรื่องอื่น ทรงสอนให้ปฎิบัติฝึกหัดจิตใจ
ให้เอาจิตพิจารณากาย
เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้า เรียกว่า
ธัมมวิจยะ
พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์
จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง
การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง
เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า


ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน

ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืน

ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู

ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่
ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น

-------------------------------------------------


* วาสนา นั้นเป็นไปตามอัธยาศัย
คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นคนพาลได้
บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นเป็นบัณฑิต
ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น


ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

ผู้มีปัญญา ได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ
ควรรีบทำเสีย

ผู้มีปัญญา ซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป
จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิต อันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่า มีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่า คิดอะไรบ้าง มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการให้ท่องในใจอยู่เสมอว่า เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน

ทาน-ศีล- ภาวนา ธรรมทั้ง 3 นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์อย่างแท้จริง

คนหิว อยู่เป็นปกติสุขไม่ได้ จึงวิ่งหาโน่นหานี่ เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

อานิสงส์ของศีล 5 เมื่อรักษาได้ 1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน 2. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย 3. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภริยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำ กล่ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความผาสุข 4. พูดะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ ด้วยศีล 5. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่ เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย อย่าพากันทำ ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ ทำแต่คุณความดี อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์

กรรม จำแนกสัตว์ให้ทราม และประณีตต่างกัน ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล คือ ลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้ แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดู จากพ่อ-แม่มาเป็นอย่างดีเหมือนโลกทั้งหลายก็ตาม เขาก็มองไม่เห็นคุณของพ่อ-แม่ ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้าง แต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขา ที่เป็นคนหนึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น

คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมาย หรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุง จึงมีความสุข ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ มีความสุขมากกว่าผู้ใดมาในทางมิชอบเสียอีก เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ แต่กฏความจริง คือกรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วย และให้ผลเป็นทุกข์ไม่ส้นสุด นักปราชญ์ ท่านจึงกลัวกันหนักหนา แต่คนโง่อย่างพวกเรา ผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัว ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือ ความสุขดังใจหมาย

อะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ

หาคนดีมีศีลธรรมในใจ หายากยิ่งกว่าเพรชนิลจินดา ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ เพราะเงินเป็นล้านๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่ โลกได้อย่างถึงใจ เหมือนได้คนดีทำประโยชน์

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลก เศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด ความทุกข์ทรมาน ความอดทน ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

"ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ" หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

3 ความคิดเห็น:

  1. "การบำรุงรักษาสิ่งใดๆในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม
    จุดที่เป็นเยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี
    ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม
    รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจแล้วคือถึงพระนิพพาน"

    "ใจนี้ คือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
    คนพลาดใจ คือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้
    แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง"

    "ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
    ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
    สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย"

    ธรรมพระบูรพาจารย์(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. "ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ ตน ว่าเสวยเป็นอันผิดทั้งนั้น"

      และตอนที่ท่านอบรมสอนหลวงปู่แหวน นั้นท่านได้กล่าวว่า

      "ติดดี นี่แก้ยากกว่า ติดชั่วเสียอีก"

      ลบ